บ้านที่ดีควรเป็นบ้านที่เหมาะกับสภาพภูมิอากาศ บ้านหลังนี้ถือเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการออกแบบให้สัมพันธ์กับอากาศร้อนชื้นของเมืองไทย เบื้องหลังประตูตะแกรงเหล็กสีดำคือบ้านสไตล์โมเดิร์นของ คุณเอ – จิรสีห์ และ คุณสุพินดา เตชาชาญ ซึ่งสร้างบ้านเกือบเต็มพื้นที่ ทำให้บ้านดูใหญ่และโอ่โถง ทั้งที่ขนาดที่ดินไม่ได้ใหญ่มาก เมื่อก้าวเข้าไปภายในบ้านเราสัมผัสได้ถึงความอบอุ่นที่ฟุ้งกระจายไปทั่วบ้าน พร้อมกับสายลมอ่อนๆ ที่พัดเข้ามาตลอดเวลา
“เดิมทีที่ดินตรงนี้เป็นสนามหญ้าของบ้านคุณแม่คุณเอ ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 65 ตารางวา และคุณเอต้องการใช้เป็นเรือนหอครับ” คุณรักศักดิ์ สุคนธะตามร์ สถาปนิกผู้ออกแบบบ้าน และยังเป็นเพื่อนสนิทของคุณเอด้วย เกริ่นนำให้เราฟัง
“โจทย์แรกที่ผมได้รับก็คือคุณเอเป็นโรคภูมิแพ้ ไม่ชอบอยู่ในพื้นที่อับๆอยากได้บ้านที่โปร่งโล่ง และต้องการพักผ่อนสบายๆ ในบ้านที่ให้อารมณ์กึ่งๆรีสอร์ต เพราะเป็นคนชอบอยู่บ้าน และต้องมีมุมสำหรับปาร์ตี้สังสรรค์กันทุกเดือน” คุณรักศักดิ์เท้าความถึงวันแรกๆ ของการพูดคุยกับคุณเอ นับจากวันนั้นเขาและทีมงานก็กลับมาทำการบ้าน โดยพิจารณาจากความต้องการของเจ้าของบ้านและข้อจำกัดของพื้นที่ จนได้แนวคิดหลักในการออกแบบ
“เรามองว่าจะต้องเป็นบ้านที่อยู่สบาย ใช้พื้นที่อย่างคุ้มค่า ประหยัดพลังงาน ที่สำคัญรบกวนธรรมชาติให้น้อยที่สุด”
ตัวอาคารใช้โครงสร้างเหล็กกรุกระจกใส ซึ่งตอบโจทย์ความชื่นชอบบ้านสไตล์โมเดิร์นของเจ้าของบ้าน นอกจากนี้ยังทำประตูเชื่อมระหว่างบ้านคุณเอกับบ้านคุณแม่ จุดเด่นที่น่าสนใจของบ้านนี้คือโครงสร้างเหล็กและประตูบานสูงชะลูดบริเวณทางเข้าบ้าน ซึ่งเปิดได้ทั้งหมด 4 ช่องทาง ทำให้เกิดทางระบายอากาศภายในบ้านระหว่างทิศเหนือกับทิศใต้ หลายท่านอาจสงสัยว่าการเลือกใช้กระจกจะเหมาะกับสภาพอากาศของบ้านเราจริงหรือ คุณรักศักดิ์ให้คำตอบว่า
“หากเลือกวางตำแหน่งบ้านในทิศทางที่ถูกต้อง เน้นการรับแสงธรรมชาติเลี่ยงแดดจัด ก็จะทำให้บ้านที่ใช้กระจกได้สัมผัสกับความร่มรื่น ผมและทีมงานจะคำนวณด้วยโปรแกรมทุกครั้งก่อนออกแบบ เพื่อหาทิศทางของกระแสลมที่พัดในแต่ละช่วงเวลาตลอดทั้งปี จากนั้นจะใช้งานออกแบบสถาปัตยกรรมบังคับ
ทิศทางลมให้กลับเข้าสู่ภายในบ้าน นอกจากทำให้บ้านเย็นสบาย เกิดการระบายอากาศที่ดีแล้ว ยังช่วยกำจัดเชื้อโรคในบ้านด้วย”
ส่วนงานตกแต่งภายในบ้านออกแบบโดย คุณธวัชชัย คล่องวัฒนกิจ จากบริษัท Interior Design Farm จำกัด “ผมปรับเปลี่ยนโครงสร้างโดยขยับผนังนิดหน่อยเพื่อให้เข้ากับขนาดเฟอร์นิเจอร์ ทำให้พื้นที่ใช้งานมีความลงตัวมากขึ้น เจ้าของบ้านอยากได้ครัวไทยและแพนทรี่ที่ใช้งานได้จริง ส่วนห้องน้ำชั้นล่าง คุณเอต้องการให้มีชาวเวอร์ แต่ไม่ให้เห็นว่ามี เพื่อความเรียบร้อย เราก็กลับแปลนเพื่อซ่อนห้องชาวเวอร์ไว้ด้านในครับ”
การจัดวางส่วนรับประทานอาหาร ห้องนั่งเล่น ส่วนเตรียมอาหาร และครัวจะมีความต่อเนื่องกัน เน้นการใช้งานจริง ด้วยความสูงแบบดับเบิลสเปซในบริเวณส่วนรับประทานอาหาร จึงช่วยในเรื่องการหมุนเวียนอากาศภายในสร้างบรรยากาศที่ดูโปร่ง ไม่อึดอัด การตกแต่งเน้นความโล่งและเรียบง่าย ผสมผสานโครงเหล็กที่ดูแข็งแกร่งกับไม้ที่ดูอบอุ่นได้อย่างลงตัว
“ชั้นสองมีห้องทำงาน ห้องนอนแขก ซึ่งอนาคตจะปรับเปลี่ยนเป็นห้องนอนของลูกคุณเอ ห้องนอนใหญ่ สำหรับห้องแต่งตัวด้วยไลฟ์สไตล์ที่ต่างกันจึงออกแบบเป็นสองฝั่งตามความชอบของคุณเอและภรรยา โดยห้องแต่งตัวของภรรยาจะมีกลิ่นอายความเป็นลักชัวรีคอนเทมโพรารี ต่างจากห้องคุณเอที่เน้นความโมเดิร์น เรียบง่าย มีห้องน้ำที่ใช้งานพร้อมกันได้ครับ”
เฟอร์นิเจอร์ส่วนใหญ่คุมโทนด้วยสีดำ ขาว และสีไม้ เพื่อให้เข้ากับภาพรวมของบ้าน เพิ่มสีสันสดใสด้วยงานศิลปะติดผนัง นับเป็นเรือนหอที่ออกแบบได้อย่างพิถีพิถันและให้บรรยากาศอบอุ่นจริงๆ
“บางทีการออกแบบบ้านก็ไม่ได้ต้องการแค่บ้านสวยหรูหราเท่านั้น สิ่งสำคัญคือต้องออกแบบให้บ้านเป็นบ้านจริงๆ อย่อูาศัยได้อย่างสบายและตอบโจทย์ความต้องการของผู้เป็นเจ้าของ ซึ่งจุดศูนย์กลางของบ้านคือการเห็นผู้อยู่อาศัยมีความสุขร่วมกันในครอบครัว” คุณรักศักดิ์กล่าวทิ้งท้าย
ด้วยความใส่ใจในทุกขั้นตอนของการออกแบบทำให้บ้านหลังนี้ได้รับรางวัล The International PropertyAward 2013 ประเภท “Best Architecture Single Residence Thailand” และเราขอยืนยันว่าบ้านนี้เต็มเปี่ยมด้วยบรรยากาศแห่งความสุข อยู่แล้วสบายกายและใจอย่างที่คุณเอและภรรยาต้องการจริงๆ