ปัญหาเรื่องโจรกรรม ลักเล็กขโมยน้อยหรือจะยกเค้าไปทั้งบ้านนับเป็นปัญหาที่พบเจอกันได้ทุก ๆ พื้นที่ และมีข่าวให้เห็นกันแทบทุกวัน โดยเฉพาะพื้นที่ในเมืองใหญ่ซึ่งจะเน้นการอยู่อาศัยแบบ “ต่างคนต่างอยู่” จะแตกต่างกับพื้นที่ในชนบทที่เน้นพึ่งพาอาศัยกัน แต่ก็ไม่ได้หมายถึงว่าแถบชนบทจะไม่มีโจรขโมยนะครับ มีเช่นกันแต่อัตราส่วนน้อยกว่ามาก สำหรับท่านที่ซื้อที่ดินสร้างบ้านอาจต้องคอยระมัดระวังด้วยตนเอง ส่วนท่านที่อาศัยในโครงการบ้านจัดสรรก็พอที่จะไว้วางใจได้ในระดับหนึ่ง เนื่องด้วยโครงการบ้านจัดสรรปกติแล้วจะมีระบบป้องกันหลายขั้น ทั้งสัญญาณกันขโมย กล้องวงจรปิด และ รปภ. และหากบ้านใครโดนขโมยขึ้นบ้าน รู้กันหรือไม่ว่า บริษัท รปภ. ต้องรับผิดชอบด้วย สำหรับวันนี้ “บ้านไอเดีย” ขอยกตัวอย่างข่าวคดีขโมยทรัพย์สินในโครงการแห่งหนึ่ง จากหนังสือพิมพ์ข่าวสดมาให้อ่านกัน เพื่อเป็นกรณีศึกษากันครับ
“เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. นายสุเวช จิตมหาวงศ์ อัยการอาวุโส สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 2 เปิดเผยว่า กรณีมีผู้เสียหายซื้อบ้านพักจากเจ้าของโครงการบ้านจัดสรรต่างๆและ ถูกคนร้ายเข้าไปลักทรัพย์สินภายในบ้านพัก แต่เจ้าของโครงการกลับปฏิเสธความรับผิดชอบ อัยการจึงมีข้อแนะนำผู้เสียหายให้ร้องทุกข์ต่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และต่อมาอัยการได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องเจ้าของโครงการ และบริษัท รักษาความปลอดภัยแทนผู้เสียหายต่อศาลตามพื้นที่เกิดเหตุนับสิบคดี ซึ่งเจ้าของโครงการบ้านจัดสรร มักต่อสู้คดีว่า ไม่ใช่คดีผู้บริโภคและได้ว่าจ้างบริษัทรปภ.มาดูแลให้นั้น คดีลักษณะเช่นนี้ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยแล้วให้เป็นคดีคุ้มครองผู้บริโภค
นับว่าเป็นเรื่องราวที่อาจทำให้หลายท่านโล่งใจไปเยอะ ในเมื่อโครงการได้ว่าจ้างบริษัทรปภ.มาดูแลด้านความปลอดภัยแล้ว บริษัท รปภ.ก็ควรที่จะทำหน้าที่ให้ดีที่สุดเพื่อไม่ให้เกิดภัยต่าง ๆ และหากไม่สามารถดูแลได้อย่างทั่วถึงก็จำเป็นต้องรับผิดชอบหากเกิดเหตุการณ์ขึ้นมา อย่างไรก็ตามแม้ในทางกฎหมาย บริษัทรปภ. จะต้องรับผิดชอบ ผู้อยู่อาศัยเองก็ไม่ควรชะล่าใจ ป้องกันบ้านเรือนให้ปลอดภัยด้วยการติดตั้งระบบป้องกันอื่น ๆ สร้างความสัมพันธ์อันดีกับเพื่อนบ้าน จะได้คอยช่วยกันเป็นหูเป็นตา ได้ทั้งมิตรภาพและความปลอดภัยครับ