รายการจากญี่ปุ่นเคยตีแผ่เรื่องราว “ความประหลาด” ของคนไทยในสายตาคนญี่ปุ่น ที่เห็นคนไทยเสียบอะไรก็ไม่รู้ที่จมูก สิ่งนั้นคือ “ยาดม” ที่คนไทยบางคนติดนักติดหนา ถึงขนาดเสียบคาไว้ในรูจมูกกันเลยทีเดียว
ใครที่ใช้ยาดมอยู่เป็นประจำ คงทราบดีว่ากลิ่นของยาดมทำให้รู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่า สมองโล่ง แต่กลิ่นของยาดมจะเป็นอันตรายต่อร่างกายหรือไม่หากใช้ไปนานๆ เราไปหาคำตอบกันค่ะ
ยาดม มีส่วนประกอบอะไรบ้าง?
ถ้าอยากรู้ว่ายาดมจะเป็นอันตรายหรือเปล่า เราก็ต้องดูว่ายาดมมีส่วนประกอบอะไรที่อันตรายหรือไม่
- เมนทอล
เมนทอล หรือเกล็ดสะระแหน่ มีกลิ่นหอมเย็นที่หลายคนคุ้นเคย เพราะมักเป็นสารประกอบในผลิตภัณฑ์เครื่องอุปโภคบริโภคต่างๆ ช่วยลดอาการบวมของหลอดเลือดในจมูก และลดอาการปวดในบริเวณที่สัมผัส
- การบูร
แต่ก่อนเป็นสารสกัดจากการบูร แต่ปัจจุบันมักเป็นสารสังเคราะห์ เพราะทำได้ง่าย และราคาถูกกว่า มีฤทธิ์เป็นยาชา และต้านจุลินทรีย์อย่างอ่อนๆ จึงมักนำมาใช้เป็นส่วนประกอบของยาทาเฉพาะที่ที่ต้องการลดอาการอักเสบปวดบวมภายนอก เช่น ยาทาแก้เคล็ดขัดยอก ฟกช้ำ แมลงสัตว์กัดต่อย
- พิมเสน
พิมเสนบริสุทธิ์ จะได้จากการนำการบูรมาหุงกับยาอื่นๆ แต่ปัจจุบันจะทำมาจากสารสังเคราะห์ มักใช้สูดดมแก้วิงเวียน มีฤทธิ์กระตุ้น สงบระบบประสาทส่วนกลาง และเป็นส่วนประกอบของยาทาแก้เคล็ดขัดยอกเหมือนกัน
- น้ำมันหอมระเหยอื่นๆ เช่น น้ำมันสะระแหน่ น้ำมันเขียว น้ำมันกานพลู หรือน้ำมันยูคาลิปตัส
- อาจมีสารสกัดจากสมุนไพรอื่นๆ แล้วแต่สูตร
ส่วนประกอบเด่นๆ เช่น เมนทอล การบูร พิมเสน ให้กลิ่นที่หอมเย็น ซ่า สดชื่น จมูกโล่ง เรียกประสาทต่างๆ ได้ดี จึงเหมาะแก่การดมเพื่อเรียกความสดชื่น ตื่นตัว
ทำไมเราถึงติดยาดม?
รู้หรือไม่ว่า สารประกอบอย่าง เมนทอล และการบูร เป็นสารที่ส่งผลต่อระบบประสาท จึงอาจทำให้เรา “เสพติด” ยาดมได้เหมือนกัน โดยรูปแบบจะเป็นการติดโดยเป็นนิสัย
ติดยาดมมากๆ เป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือไม่?
การสูดดมยาดมที่มีส่วนประกอบเย็นๆ อย่าง เมนทอล การบูร และพิมเสนบ่อยๆ อาจทำให้เยื่อเมือกบุทางเดินจมูกเกิดการระคายเคืองได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งใครที่ชอบสูดดมใกล้ๆ ยัดเข้าไปในรูจมูกนานๆ หรือใช้ยาดมที่มีส่วนผสมค่อนข้างเข้มข้น การใช้ยาดมบ่อยๆ อาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองบริเวณทางเดินหายใจ และอาจมีอาการปอดอักเสบได้
นอกจากนี้สารละลายในยาดม อาจทำให้ผิวหนัง หรือเยื่อบุในจมูกอักเสบได้เมื่อสัมผัสอีกเช่นกัน
ใช้ยาดมอย่างไร ให้ปลอดภัย?
1. หากมีอาการคัดจมูก เป็นหวัด ต้องการความสดชื่น ควรหยิบมาดมใกล้ๆ จมูก สัก 1-2 นาที แล้วพักก่อน หากอาการยังไม่ดีขึ้น หรือยังไม่รู้สึกสดชื่น สามารถหยิบมาดมต่อได้อีก 1-2 นาที แล้วพัก
2. อย่าเสียบยาดมคาจมูกเป็นระยะเวลานานๆ เพราะอาจทำให้สูดกลิ่นยาดมเข้าไปอย่างเข้มข้นนาน และมากจนเกินไป
3. หากใช้เป็นยาหม่องน้ำ ไม่ควรนำมาสัมผัสที่จมูกโดยตรง แต่ควรหยดใส่ผ้าเช็ดหน้า หรือทาบริเวณอกแทน
4. ไม่ควรให้เด็กเล็กใช้ยาดม เพราะเยื่อบุภายในจมูกอาจยังบอบบางจนเกินไป
5. หากไม่ได้ใช้ยาดมแล้วรู้สึกมึนหัว คัดจมูก หายใจไม่ออก หรืออาการอื่นๆ บ่อยๆ ควรปรึกษาแพทย์ เพราะยาดมเหมาะสำหรับแก้อาการเหล่านี้เพียงชั่วคราวเท่านั้น
ยาดมเป็นยาสามัญประจำบ้านที่มีราคาถูก และหากใช้อย่างถูกวิธี นอกจากจะปลอดภัยต่อร่างกายแล้ว ยังมีประโยชน์ในยามคับขันได้ เช่น เมื่อมีอาการคล้ายเป็นลม หน้ามืด ตามัว เมารถ เมาเรือ และอื่นๆ ดังนั้นควรใช้ยาดมให้เป็น ให้ถูกจุดประสงค์เป็นครั้งๆ ไป จะดีกว่าค่ะ
ขอบคุณข้อมูลจาก : คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล