กู้ธนาคารไม่ผ่าน เพราะติดเป็นผู้กู้ร่วม


ข่าวสาร admin 5 ก.ค. 2560

มีใครเคยเจอกับปัญหานี้กันบ้างไหมคะ ถึงคราวที่เราต้องขอสินเชื่อแต่ธนาคารไม่อนุมัติให้เพราะติดเรื่องที่เรามีชื่อเป็นผู้กู้ร่วมกับคนอื่นอยู่ ถือเป็นปัญหาใหญ่เลยล่ะ เพราะที่เรามีชื่อกู้ร่วมกับคนอื่นอยู่ก็อีกหลายปีกว่าจะครบสัญญา แม้จะบอกว่าลงแต่ชื่อไว้ว่าเป็นผู้กู้ร่วมไม่ได้ร่วมจ่ายค่างวดอะไรกับเขาด้วย แบบนี้ก็อ้างกับธนาคารไม่ได้ เพราะการกู้ร่วมแม้ว่าเราจะร่วมแต่ชื่อหรือร่วมผ่อนด้วยก็ให้ผลเหมือนกันในแง่ของข้อผูกพันที่มีกับธนาคาร


ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกับการเป็นผู้กู้ร่วมกันก่อนดีกว่า ส่วนใหญ่แล้วการขอสินเชื่อที่มีมูลค่ามากอย่างเช่น บ้าน คอนโด หรือที่ดินที่มีมูลค่าหลายล้านบาท จำเป็นต้องมีผู้กู้ร่วมเพื่อช่วยให้โอกาสที่สินเชื่อได้รับการอนุมัติจากธนาคารนั้นเพิ่มมากขึ้น เหตุผลก็เพราะธนาคารจะนำรายได้ของทั้งผู้กู้หลักและผู้กู้ร่วมไปคิดรวมกันเพื่อพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ หรือภาระหนี้สินต่อรายได้

ยกตัวอย่างครอบครัวที่มีลูกหลายคน เมื่อแต่ละคนเรียนจบถึงวัยทำงานเริ่มมีรายได้ ก็คิดอยากร่วมกันซื้อบ้านหลังใหม่เพื่อให้พ่อแม่อยู่ ก็ลงชื่อเป็นผู้กู้ร่วมกันกับทางธนาคารไว้ เงื่อนไขของการกู้ร่วมคือจะต้องเป็นญาติพี่น้องหรือมีนามสกุลเดียวกัน หรือเป็นสามีภรรยากัน ส่วนเรื่องใครจะผ่อนมากผ่อนน้อยเท่าไหร่ เนื่องจากเป็นพี่เป็นน้องกัน โดยมากคนไหนที่มีรายได้มากก็อาจจะรับผ่อนมากกว่าไป

แต่ทีนี้พอระยะเวลาผ่านไป พี่น้องแต่ละคนเริ่มโตขึ้นแยกย้ายไปมีครอบครัวเป็นของตัวเอง มีภรรยามีลูก มีรายได้เพิ่มมากขึ้น ถึงเวลาก็อยากจะมีบ้านหลังใหม่เป็นของครอบครัวตัวเอง ก็ไปขอสินเชื่อกับทางธนาคาร แต่กลับไม่ได้รับการอนุมัติเพราะภาระของการเป็นผู้กู้ร่วมที่มีอยู่กับสินเชื่อบ้านหลังเดิมที่ร่วมกับพี่น้องซื้อให้พ่อแม่อยู่ ทีนี้จะทำอย่างไรดีเพราะต้องผ่อนอีกตั้งยาวกว่าจะหมด แล้วบ้านหลังใหม่ที่อยากจะซื้อกับครอบครัวเมื่อไหร่จะมีโอกาส

กรณีที่เป็นสามีภรรยากู้ร่วมเพื่อซื้อบ้านก็เป็นลักษณะเดียวกัน หากยังอยู่เป็นคู่ผัวตัวเมียรักใครกันดีก็ไม่มีปัญหา แต่เมื่อไหร่ที่มีปัญหาขัดแย้งถึงขั้นบ้านแตกแยกย้ายกันไปคนละทาง เงินที่กู้ร่วมกันอยู่ก็ถือเป็นปัญหาหนักอกที่ไม่รู้ว่าจะเอาอย่างไรกันดี เพราะหากคนหนึ่งต้องการที่จะเอาชื่อออกจากการเป็นผู้กู้ร่วม แต่อีกคนมีคุณสมบัติไม่พร้อมที่จะเป็นผู้กู้เพียงคนเดียว แบบนี้ธนาคารก็คงจะไม่ยอมแน่ๆ


เรื่องการกู้ร่วมที่ควรต้องทำความเข้าใจ

ก่อนที่จะทำการกู้ร่วมกับใครก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นพี่น้องหรือสามีภรรยาจะต้องทำความเข้าใจเรื่องการกู้ร่วมก่อนเลยว่า การกู้ร่วมนั้นคือการเป็นหนี้ร่วมกัน แม้ว่าในความเป็นจริงแล้วการผ่อนจ่ายรายเดือนจะมากน้อยต่างกันหรือผู้กู้ร่วมบางคนไม่ได้ร่วมจ่ายค่างวดด้วยก็ตาม แต่ในทางทฤษฎีแล้วถือว่าเป็นหนี้ร่วมกัน เช่น ถ้ากู้เงินจำนวน 1 ล้านบาท กู้ร่วม 2 คน ภาระหนี้ของแต่ละคน คือ 500,000 บาท ผ่อนจ่ายเดือนละ 8,000 บาท นั่นก็หมายถึง ภาระหนี้ที่ต้องผ่อนชำระคืนแบ่งครึ่งคนละ 4,000 บาท

ภาระที่ว่านี้จะติดตัวของผู้กู้ร่วมไปด้วยเมื่อมีการขอสินเชื่อใหม่ ธนาคารก็จะนำภาระหนี้ 500,000 บาท และหนี้ที่ต้องผ่อนชำระเดือนละ 4,000 บาท นี้ไปคิดคำนวณด้วย แม้ในความเป็นจริงผู้กู้ร่วมจะจ่ายหรือไม่ได้จ่ายค่างวดนี้ก็ตาม ภาระในการกู้ร่วมนี้จึงถือเป็นการลดโอกาสในการกู้เงินในอนาคตของผู้กู้ร่วม บางคนคิดว่าใส่แต่ชื่อเป็นผู้กู้ร่วมไม่น่ามีผลอะไร แต่ที่มีผลก็อย่างที่อธิบายไว้ข้างต้นนี่แหละ

อยากถอนชื่อจากการเป็นผู้กู้ร่วม

หากหนี้เก่าที่เป็นผู้กู้ร่วมอยู่นั้นผ่อนชำระมาเป็นเวลานานเหลือมูลค่าของหนี้ไม่มาก การถอนชื่อออกจากการเป็นผู้กู้ร่วมแล้ว ผู้กู้หลักมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่ธนาคารกำหนดให้สามารถเป็นผู้กู้ต่อไปเพียงคนเดียวได้ เช่น เงินผ่อนชำระรายเดือนต้องไม่เกิน 40-50% ของรายได้ต่อเดือนของผู้กู้ หรือเมื่อเวลาผ่านไปผู้กู้หลักมีรายได้เพิ่มขึ้นและเพียงพอที่จะเป็นผู้กู้เพียงคนเดียว กรณีนี้ผู้กู้ร่วมอยากถอนชื่อออกก็สามารถทำได้

แต่หากเป็นหนี้เก่าที่เพิ่งเริ่มผ่อนไปได้ไม่นาน หนี้ที่เหลืออยู่ยังมีมูลค่ามากเกินกว่าที่รายได้ของผู้กู้หลักเพียงคนเดียวจะเข้าเกณฑ์ตามเงื่อนไขของธนาคาร การจะถอนชื่อออกจากผู้กู้ร่วมก็จะมีปัญหา ธนาคารจะไม่ยอมให้สามารถทำได้ ยกเว้นกรณีที่หาคนมาเป็นผู้กู้ร่วมแทนได้ แต่ขั้นตอนก็จะยุ่งยาก เพราะธนาคารต้องพิจารณาคุณสมบัติของผู้กู้ร่วมคนใหม่ทั้งหมด นอกจากนั้นการถอนชื่อออกจากการเป็นผู้กู้ร่วมก็เท่ากับจะต้องถอนชื่อออกจากกรรมสิทธิ์ในหลักประกันที่จำนองกับธนาคารด้วย จึงมีขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงเอกสารต่าง ๆ และค่าใช้จ่ายที่จะต้องจ่ายกรณีของการถอนชื่อออกจากผู้กู้ร่วมด้วย ดังนี้

• เปลี่ยนแปลงสัญญาเงินกู้กับธนาคาร
• เปลี่ยนแปลงสัญญากรรมสิทธิ์ที่ดินที่กรมที่ดิน และมีค่าใช้จ่ายเป็นค่าโอน 2% ของราคาประเมิน
• ผู้กู้ร่วมจะต้องจ่ายภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายด้วย เพราะโดยหลักการแล้วเท่ากับผู้กู้ร่วมขายกรรมสิทธิ์

ยุ่งยากไม่ใช่น้อยสำหรับขั้นตอนในการขอถอนชื่อเป็นผู้กู้ร่วมนี้ แถมค่าใช้จ่าย 2% ของราคาประเมินอีก ไม่น้อยเลยที่จะต้องเสีย ดังนั้น ก่อนตัดสินใจเป็นผู้กู้ร่วมในสินเชื่อใด ๆ กับใครต้องคิดให้ยาว ๆ หากการให้ชื่อเป็นผู้กู้ร่วมเราไม่ได้มีส่วนได้เสีย แค่ให้ยืมชื่อไปก็มีผลกับอนาคตในการขอสินเชื่อของเราเช่นกัน จึงต้องวางแผนและตัดสินใจให้ดีก่อน

Sirispace New update