ก่อนที่เด็กๆ จะเข้าใจจิตใจคนอื่น เด็กต้องเข้าใจอารมณ์และความรู้สึกของตนเองเสียก่อน ในเด็กเล็กๆ อาจจะยังไม่เข้าใจว่า เมื่อน้องเข้ามาแย่งของเล่นไปจากมือแล้วทำไมเขาถึงตีน้อง ผู้ใหญ่จะเป็นผู้ช่วยในการสะท้อนความรู้สึกต่างๆ ให้เด็กเข้าใจอารมณ์ของตนเอง และสามารถเรียกชื่อความรู้สึกนั้นได้อย่างถูกต้อง เช่น “หนูโกรธที่น้องมาแย่งของเล่น หนูเลยตี” หรือเมื่อเด็กร้องให้ ผู้ใหญ่อาจบอกว่า “แม่รู้ว่าหนูไม่พอใจที่แม่ไม่ให้ออกไปเล่น” การสอนให้เด็กหัดสังเกตสีหน้า ท่าทางคนรอบข้าง และให้เกิดคาดเดาอารมณ์ของคนอื่น ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยให้เด็กเข้าใจอารมณ์ของผู้อื่นมากขึ้น
ให้เรียกรู้ว่าสิ่งที่เด็กนั้นมีผลต่อคนอื่นได้อย่างไร เช่น “คุณยายคงดีใจที่ลูกมาเยี่ยม ท่านยิ้มแก้มปริเลย” “หนูช่วยครูถือของแบบนี้ ครูหานเหนื่อยเลย” และเมื่อเด็กอยู่ใกล้ผู้ใหญ่ที่แสดงความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น จะทำให้เด็กเลียนแบบได้ง่าย โดยเฉพาะในช่วงที่เด็กทำอะไรผิดพลาด ถ้าผู้ใหญ่แสดงความเห็นใจและเข้าใจถึงความรู้สึกผิดหวัง เสียใจ ความไม่ได้เจตนา หรือความรู้สึกผิดของเด็ก เหล่านี้จะช่วยให้เด็กเรียนรู้ และกลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นได้มาก
ข้อมูลจาก : นพ.ณัฐวัฒน์ งามสมุทร