บุหรี่ไฟฟ้า หรือ E-Cigarettes เป็นอุปกรณ์รูปแบบใหม่ที่จะส่งผ่านสารนิโคตินเข้าสู่ร่างกายในรูปแบบละอองฝอยโดยไม่ต้องมีการเผาไหม้หรือการลุกไหม้
ทำไมบุหรี่ไฟฟ้า ถึงเป็นที่นิยม?
ด้วยบรรจุภัณฑ์ที่สวยหรู ดึงดูดใจและทันสมัย คล้ายซิการ์ ปากกา สีสันสวยงาม ปรุงรสชาติต่างๆ เช่น รสเชอร์รี่ ช็อกโกแลต วานิลลา เป็นต้น
รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เปิดเผยข้อมูลเอกสาร THE FACTS on E-Cigarette Use Among Youth and Young Adults ของกระทรวงสาธารณสุขสหรัฐอเมริกา (US Surgeon General : 2016) พบว่า ใน 2-3 ปีมานี้ วัยรุ่นของสหรัฐอเมริกา มีอัตราการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวในกลุ่มเยาวชน ระดับชั้นประถมปลายและมัธยม และใช้อย่างต่อเนื่องในระยะ 30 วัน ด้วยเหตุผลหลักคือ ความอยากรู้อยากเห็น ชอบรสชาติ และเข้าใจว่าละอองฝอยปลอดภัยเมื่อเทียบกับการสูบบุหรี่ อีกทั้งอุตสาหกรรมยาสูบได้ใช้เทคนิคที่ล่อตา ล่อใจ รวมถึงการสร้างค่านิยมวัยรุ่นแบบใหม่
บุหรี่ไฟฟ้า อันตรายหรือไม่?
จริงๆ แล้วการใช้บุหรี่ไฟฟ้า มีสารพิษต่าง ๆ เทียบเท่ากับการสูบบุหรี่ปกติ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยสารนิโคตินหากเข้าในกระแสเลือดของแม่ที่สูบบุหรี่ในขณะตั้งครรภ์สามารถผ่านรกมาส่งผลต่อทารกในครรภ์ ซึ่งมีผลกระทบต่อทารกมากมายรวมไปจนถึงการเสียชีวิตกะทันหัน นอกจากนี้ ยังส่งผลต่อสมองและระบบประสาทด้านการได้ยิน น้ำหนัก ที่อาจทำให้ทารกตัวเล็กกว่าปกติ
ดังนั้นการได้รับสารนิโคตินในวัยรุ่นที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้า จึงต้องมีการติดตามผลอย่างใกล้ชิด เพราะอาจทำให้วัยรุ่นเกิดการเสพติดได้อย่างง่ายดาย และส่งผลทำลายสมองส่วนคิดชั้นสูงของวัยรุ่น
นอกจากนี้สารต่างๆ ที่รับเข้าไปโดยเฉพาะระบบทางเดินหายใจ ซึ่งองค์การอาหารและยาระบุว่า เป็นสารที่ก่อให้เกิดละอองฝอยจากการใช้บุหรี่ไฟฟ้า และเป็นสารที่ใช้ในอาหารเพื่อรสชาติ สีสัน ทั้งในการผลิตยาหรือเวชภัณฑ์เครื่องสำอางค์นั้น หากสัมผัสสารนี้ในระยะสั้น จะก่อให้เกิดอาการระคายเคืองระบบทางเดินหายใจ และระคายเคืองตา หากสัมผัสสารเหล่านี้ในระยะยาว ก็จะทำให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น หอบหืด ได้
ใช้บุหรี่ไฟฟ้าแทน เพื่อเลิกสูบบุหรี่จริง?
บุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้เป็นสารทดแทนในการเลิกสูบบุหรี่แต่อย่างใด แต่เป็นจุดเริ่มตั้งต้นในการเสพติดบุหรี่หรือสารเสพติดประเภทอื่นๆ ในเด็กและเยาวชน
ด้วยรูปลักษณ์และองค์ประกอบทำให้สร้างความยั่วยวนใจในวัยรุ่นให้หันมาสูบบุหรี่ไฟฟ้า และเกิดกระแสในวงกว้างในหมู่วัยรุ่นอย่างรวดเร็ว อีกทั้งเยาวชนยังขาดความรู้เท่าทันกลยุทธ์ของบริษัทผู้ผลิต รวมทั้งภาครัฐยังขาดการจัดการเชิงกฎหมายเพื่อปกป้องประชาชน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน
วัยรุ่นไทย กับบุหรี่ไฟฟ้า
พญ.ปานทิพย์ โชติเบญจมาภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากผลสำรวจการบริโภคยาสูบในเยาวชนไทย อายุ 13-15 ปี ครั้งล่าสุดในปี 2558 สำรวจพบว่า เยาวชนชายสูบบุหรี่ไฟฟ้าถึงร้อยละ 4.7 และเยาวชนหญิงสูบบุหรี่ไฟฟ้าถึง ร้อยละ 1.9 ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ด้วยเหตุนี้รัฐบาลปัจจุบัน จึงมีนโยบายให้กระทรวงพาณิชย์ ออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ กำหนดให้บารากู่ บารากู่ไฟฟ้า และบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2557 ซึ่งหากมีผู้ฝ่าฝืนนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าเข้ามายังประเทศไทย จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับเป็นเงิน 5 เท่าของราคาสินค้า หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ริบสินค้าเหล่านั้นรวมถึงพาหนะที่ใช้บรรทุกสินค้านั้นด้วย
นอกจากนี้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้ออกคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ฉบับที่ 9/2558 ห้ามขาย และห้ามให้บริการบารากู่ บารากู่ไฟฟ้า บุหรี่ไฟฟ้า และตัวยาสำหรับเติมบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2558 กรณีพบผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากผู้ขายหรือให้บริการเป็นผู้ผลิต ผู้สั่งนำเข้ามาขาย ต้องรับโทษเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า
บุหรี่ไฟฟ้า ในตลาดโลก
ในที่ประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบ ครั้งที่ 7 (COP7) ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 7-12 พฤศจิกายน 2559 ณ ประเทศอินเดีย มีมติร่วมกันเรียกร้องให้ประเทศภาคี 180 ประเทศ ให้ความสำคัญและดำเนินการออกกฎเกณฑ์มาตรการเพื่อควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าโดยเร็ว
ในขณะนี้ ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกถึง 55 ประเทศ มีกฎหมายห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศของตน มี 17 ประเทศ ที่กำหนดให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ และอีก 26 ประเทศกำหนดให้บุหรี่ไฟฟ้า
เป็นผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบหนึ่ง มี 4 ประเทศที่กำหนดว่าภาชนะบรรจุนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสารพิษ ทั้งนี้ 1/4 ของประเทศในอาเซียนคือ ประเทศบรูไน กัมพูชา สิงคโปร์ และไทย ได้ห้ามไม่ให้มีการจำหน่าย บุหรี่ไฟฟ้าแล้ว
มีบริษัทยาสูบข้ามชาติ 4 บริษัทยักษ์ใหญ่ ที่ลงทุนในธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้า และทำการตลาดบุหรี่ไฟฟ้าในหลายประเทศ โดยสร้างวาทกรรมว่าเป็นบุหรี่ที่มีอันตรายน้อย ได้แก่ บริษัท ฟิลิป มอริส ผลิตบุหรี่ไฟฟ้ายี่ห้อ “iQQS” บริษัท บริทิช อเมริกัน โทแบบโค ผลิต ยี่ห้อ “Vype EPe” บริษัท Japan Tobacco International ผลิตยี่ห้อ “E-lites” และ “Ploom Tech” สำหรับบริษัท Imperial Group ผลิตยี่ห้อ “Puritane”
หน่วยงานด้านบุหรี่ไฟฟ้าของบริษัทบุหรี่ ได้โฆษณาชวนเชื่อว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นบุหรี่ทางเลือกที่ปลอดภัยกว่า และจัดเป็นผลิตภัณฑ์ช่วยเลิกบุหรี่ โดยมีองค์กรล็อบบี้ยิสต์ คือ Factasia.org และนักวิจัยตะวันตกหลายคนได้สนับสนุนให้มีการใช้บุหรี่ไฟฟ้า
แต่มีข้อมูลยืนยันจากองค์การอนามัยโลกที่ระบุว่า บุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ปลอดจากสารพิษ และไม่มีข้อพิสูจน์ว่า “ปลอดภัย” สำหรับผู้สูบ รวมทั้งข้อกล่าวอ้างที่ว่ามีประสิทธิภาพในการช่วยเลิกบุหรี่ ก็ยังไม่มีการประเมินผลอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ แต่กลับพบว่า ควันหรือไอจากบุหรี่ไฟฟ้าสามารถทำให้เกิดมะเร็งได้ เพราะมีสารฟอร์มาลดีไฮด์ สูงถึง 15 เท่าของบุหรี่ทั่วๆ ไป
นอกจากนี้ The US Surgeon General ได้เผยแพร่รายงานเมื่อไม่นานมานี้ว่า มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่เพียงพอจนสรุปได้ว่า บุหรี่ไฟฟ้าเป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน โดยพบงานวิจัยที่แสดงถึงอันตรายดังกล่าว ยิ่งกว่านั้นนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Southern California พบว่า วัยรุ่นที่ลองสูบบุหรี่ไฟฟ้า จะกลายเป็นผู้สูบบุหรี่ประจำในที่สุด
ดังนั้น คำกล่าวอ้างใด ๆ ของบริษัทบุหรี่จึงเป็นเพียงการดิ้นอีกเฮือกหนึ่งของบริษัทบุหรี่ที่ต้องการให้การค้ากำไรอีกบนความตายของผู้บริโภคยังคงอยู่ต่อไปในสังคมไทย
ร่วมกันภาวนาให้ร่าง พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ผ่านการพิจารณาของกรรมาธิการฯ และสนช.ในรัฐบาลชุดนี้เถิด เพื่อเยาวชนและลูกหลานไทยไม่ตกเป็นเหยื่อของบริษัทบุหรี่และยาเสพติดอีกต่อไป