เมื่อถึงตรงนี้แล้ว เชื่อว่าคงมีน้อยคนที่จะไม่รู้จักบิตคอยน์ เพราะเวลานี้สกุลเงินดิจิทัลชื่อดังได้กลายเป็นที่รู้จักผ่านสื่อกระแสหลักเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยในปี 2017 นับได้ว่าเป็นปีแห่งบิตคอยน์อย่างแท้จริง เนื่องจากในช่วงเดือนมกราคม 2017 ราคาต่อหนึ่งบิตคอยน์ยังมีมูลค่าเพียงแค่ 997 ดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น ก่อนที่ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2017 ราคาของบิตคอยน์จะพุ่งขึ้นสูงเกินหนึ่งหมื่นดอลลาร์สหรัฐต่อหนึ่งบิตคอยน์
เมื่อบิตคอยน์กลายเป็นกระแสหลักที่ ‘ใครๆ’ ต่างก็พูดถึง จึงนำมาสู่คนทั่วไปที่หวังอยากร่ำอยากรวยด้วยบิตคอยน์ ซึ่งแน่นอนว่า เรื่องความร่ำ-ความรวย ก็เป็นเรื่องที่ทุกคนทะเยอทะยานอยากได้อยากมี แต่ถึงกระนั้นต้องไม่ลืมที่จะตรวจสอบความเสี่ยงของตัวเองด้วยว่า จะสามารถรับความผันผวนของบิตคอยน์ได้ดีแค่ไหน
ในปี 2017 ที่ผ่านมา ประเด็น ‘Brexit’ หรือการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร ยังคงเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงอย่างยิ่ง โดยในเวลานี้การเจรจาขั้นต้นดูเหมือนจะลุล่วงไปแล้ว เช่น ข้อตกลงสิทธิพลเมืองของอียูในสหราชอาณาจักร หรือกล่าวให้เข้าใจอย่างง่าย นั่นคือ พลเมืองอียูในสหราชอาณาจักร ยังคงสามารถอาศัยอยู่ได้ตามปกตินั่นเอง
แต่ถึงกระนั้นกว่าที่การเจรจาจะสำเร็จเสร็จสิ้นก็ยังคงต้องใช้เวลาอีกหลายปี (ในระหว่างที่กำลังเขียนบทความชิ้นนี้ มีการประเมินว่า การออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักรอย่างเสร็จสมบูรณ์อาจล่วงไปถึงปี 2020) เพราะยังมีเรื่องที่ต้องหารืออีกเยอะมาก เช่น ข้อตกลงด้านการเงิน ไปจนถึงประเทศที่อยู่ในสหราชอาณาจักรอย่างสกอตแลนด์ ไอร์แลนด์เหนือ และเวลส์ จะตัดสินใจอย่างไรอีกด้วย
เมื่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้ลงมติเอกฉันท์แต่งตั้งนายสี จิ้นผิง ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นสมัยที่สอง ก็อาจเป็นเรื่องทั่วๆ ไปของคนที่ไม่ได้ติดตามแวดวงเศรษฐกิจ แต่การที่นายสี จิ้นผิง ได้นั่งบนเก้าอี้ตัวเดิมอีกครั้ง ถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากๆ เนื่องจากอุดมการณ์ทางการเมืองของนายสี กลายเป็นสิ่งที่สร้างคุณลักษณะใหม่ๆ ให้กับการเมืองในประเทศจีนอย่างมาก
พร้อมกันนี้การที่นายสี จิ้นผิง ดำรงตำแหน่งสมัยที่สอง จะส่งผลในการสร้างความต่อเนื่องของการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่นายสี ถือเป็นวาระเร่งด่วน การเพิ่มเสรีภาพทางการเงิน นอกเหนือจากนี้ยังมีการปรับให้โครงสร้างธุรกิจในจีนที่ถือหุ้นโดยรัฐมีความคล่องตัว และมีลักษณะการทำงานที่กระฉับกระเฉงขึ้น ไปจนถึงการสนับสนุนให้ธุรกิจที่อยู่ในจีนแผ่ขยายกลายเป็นมังกรสยายปีก โดยเฉพาะบริษัทชั้นนำอย่าง อาลีบาบา และเทนเซ็นต์ เป็นต้น
ที่สำคัญก็คือ นโยบายของนายสี คือ ต้องการเน้นให้เศรษฐกิจจีนเติบโตแบบมีคุณภาพ แทนที่จะเติบโตแบบฉาบฉวยเหมือนที่ผ่านมา เพื่อให้มีการเติบโตแบบยั่งยืนในที่สุด
ที่ผ่านมา ทเวนตี้ เฟิร์สต์ เซนจูรี่ ฟ็อกซ์ มีแนวความคิดที่จะ ‘exit’ หรือถอนตัวจากธุรกิจบันเทิง อันเนื่องมาจากการโดน ‘Disrupt’ อย่างรุนแรง โดยเฉพาะการถือกำเนิดของเน็ตฟลิกซ์ (Netflix) ที่เข้ามาทำลายโครงสร้างของระบบความบันเทิงรูปแบบเดิม
ด้วยเหตุนั้น ฟ็อกซ์จึงมีความคิดที่จะเริ่มขายกิจการของตัวเองออกไป กระทั่งดิสนีย์ให้ความสนใจซื้อกิจการในครั้งนี้ อย่างไรก็ตามก็ต้องมาดูกันอีกหนึ่งยกครับว่า ท้ายที่สุดแล้วหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็น Regulator หรือหน่วยงานที่มีความเกี่ยวข้อง จะเปิดไฟเขียวให้การซื้อขายนี้เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการหรือไม่อีกครั้งหนึ่ง
ปิดท้ายกันด้วยเรื่องของธุรกิจสื่อ ทั้งทีวีดิจิทัลและสื่อประเภทหนังสือที่ตั้งแต่ต้นปี ก็เริ่มทยอยปิดตัวลง โดยเฉพาะข่าวการปิดตัวหนังสือที่อยู่คู่แผงหนังสือไทยมานานอย่าง ‘คู่สร้างคู่สม’ ก็จะวางแผงฉบับสุดท้ายในเดือนธันวาคม 2560
ขณะเดียวกันสื่อโทรทัศน์ โดยเฉพาะทีวีดิจิทัลที่นับตั้งแต่ตั้งไข่ จนถึงปัจจุบันสถานการณ์ก็มีแต่ทรงกับทรุด สังเกตได้จากเจ้าของใบอนุญาตทีวีดิจิทัลแต่ละรายต่างล้วนอยู่ในสถานะแสนสาหัสกันทั้งนั้น ไล่ตั้งแต่ช่อง 3 ที่เป็นเจ้าของทีวีดิจิทัลถึง 3 ช่อง ได้แก่ ช่อง 3 HD, ช่อง 3SD (ช่อง 28) และช่อง 3 Family (ช่อง 13) ตามด้วยการลดจำนวนพนักงาน และการขายช่อง Now 26 ของเครือเนชั่น ไปจนถึงช่องบันเทิงในเครือแกรมมี่ ที่มีช่อง One 31 และ GMM 25 ที่ในท้ายที่สุดต้องขายสัดส่วนการถือครองหุ้นให้กับกลุ่มทุนที่มีเงินถุงเงินถัง
นอกเหนือจากนี้ ช่องข่าวอย่าง Voice TV ก็ดูเหมือนว่า จะถอดใจกับการทำทีวีดิจิทัล แล้วหันมาทำข่าวในรูปแบบออนไลน์ ซึ่งมีต้นทุนน้อยกว่า แต่ในบรรดาผู้ประกอบการด้านสื่อที่ดูเหมือนจะมีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด ก็คงเป็นเครืออาร์เอส ภายหลังประกาศถอยฉากการทำธุรกิจสื่อ แล้วหันไปทุ่มสรรพกำลังให้กับอุตสาหกรรมใหม่อย่าง ธุรกิจสุขภาพและความงาม
ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่สะท้อนว่า ธุรกิจสื่อกำลังอยู่ในภาวะ ‘เสือลำบาก’ และไม่แน่ว่าในปี 2018 ที่จะเริ่มต้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ก็อาจมีการเปลี่ยนแปลงให้เราได้เห็นอีกก็เป็นได้