Do & Don’t เคล็ดลับเลือกม่าน ที่คนแต่งบ้านควรรู้


ข่าวสาร admin 12 ม.ค. 2561

เคล็ดวิธีเลือกม่าน

ม่านแบบไหน เหมาะหรือไม่เหมาะกับห้องใด

ประโยชน์ของม่านนอกจากจะทำหน้าที่ป้องกันแสงแดด ช่วยลดทอนความร้อนที่เข้าสู่ตัวบ้านและเพิ่มความเป็นส่วนตัวให้กับผู้อยู่อาศัย ม่านยังทำหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งในการตกแต่งบ้านให้ดูสวยงามขึ้นได้ แต่ความสวยนั้นควรมาพร้อมกับการใช้งานที่เหมาะสม ม่านบางชนิดเหมาะกับห้องนอน บางชนิดเหมาะกับห้องน้ำ บางชนิดทึบแสง บางชนิดโปร่งแสง หรือแม้แต่การเลือกลวดลายให้เหมาะสมกับสีห้อง รวมทั้งของใช้ภายในบ้าน ทั้งหมดนี้เป็นองค์ประกอบที่ร่วมกันช่วยสร้างสรรค์ให้บ้านของเราสวย น่าอยู่ และดูแลง่าย

เนื้อหาชุดนี้ “บ้านไอเดีย” นำเกร็ดความรู้ในการเลือกผ้าม่านจาก VC Fabric กับ 5 ห้องภายในบ้าน ควร หรือ ไม่ควร ใช้ม่านแบบไหน พร้อมกับภาพประกอบที่เปรียบเทียบให้เห็นกันอย่างชัดเจน ว่าแต่ละห้องควรเลือกใช้ผ่านชนิดไหน อ่านกันต่อเลยครับ

ห้องครัว (Kitchen)

ครัวเป็นส่วนที่ต้องเจอกับไฟ ควัน เศษอาหาร และคราบสกปรกเลอะเทอะที่เกิดขึ้นขณะเตรียมและปรุงอาหารทุก ๆ วัน ถ้าเลี่ยงไม่ติดได้จะดีกว่า แต่ถ้าจำเป็นต้องติด ต้องคำนึงถึงการทำความสะอาดและฟังก์ชั่นที่ทนเลอะทนความร้อนได้ดี

Do :  เลือกใช้ผ้าม่านที่เนื้อผ้าเปื้อนยาก ไม่หนักเกินไป เป็นผ้าม่านสั้น ๆ แกะออกมาซักได้สะดวกและติดตั้งง่าย หรือแบบที่ทนต่อความร้อน อย่างเช่น ม่านม้วนซันสกรีน ซึ่งนอกจากจะทำความสะอาดง่ายแล้ว ยังช่วยควบคุมปริมาณแสงได้อย่างพอเหมาะ สามารถปรับระดับแสงได้ตามต้องการ ผ้าม่านบางชนิดมีฟังก์ชั่นกันเชื้อราและกันการลามไฟได้ด้วย แม้ราคาจะสูงขึ้นแต่ก็เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า

Don’t : ไม่ควรใช้วัสดุทำผ้าม่านที่ติดไฟง่ายอย่างมูลี่ไม้ หรือผ้าม่านที่อมกลิ่นหรืออมฝุ่น ถอดซักทำความสะอาดยากอย่างผ้าม่านเนื้อกำมะหยี่ขนหนา ๆ แม้ว่าจะดูสวยแต่ไม่เหมาะกับลักษณะการใช้งาน หลีกเลี่ยงการใช้ม่านอลูมิเนียม เพราะไอระเหยจากน้ำมันจะจับสะสม ยากต่อการทำความสะอาด

ห้องน้ำ ( Bathroom)

ส่วนใช้งานที่ต้องอยู่กับความเปียกชื้นที่สุดในบ้านคือ ห้องน้ำ การเลือกสรรจึงต้องคำนึงถึงคุณสมบัติป้องกันความชื้น ไม่เป็นเชื้อราง่าย ให้ความรู้สึกสบาย ผ่อนคลาย และในขณะเดียวกันให้ความรู้สึกเป็นส่วนตัว

ผ้าม่านห้องน้ำ

Do : ผ้าม่านกั้นส่วนเปียกกับส่วนแห้ง เลือกชนิดทนทานต่อความชื้น ไม่ขึ้นราง่าย อย่างม่านพลาสติก ผ้าม่านบริเวณผนังอาจใช้มู่ลี่ไม้สังเคราะห์ที่ดูแลง่ายและทนน้ำ มูลี่โฟมวูด ที่ง่ายต่อการเช็ดทำความสะอาดคราบน้ำ และไม่ดูดซับน้ำ เลือกใช้ผ่าม่านก็สามารถปรับระดับความสูง หรือองศาตามต้องการ เพื่อให้บังสายตาจากคนภายนอก แต่คนภายในยังสามารถมองออกไปได้ชัดเจน สำหรับโทนสีที่ใช้ควรเลือกโทนสีสว่างเพื่อสร้างความรู้สึกผ่อนคลายและสุขอนามัยที่ดี

Don’t : ไม่ควรใช้ผ้าม่านที่ไม่มีคุณสมบัติกันน้ำ กันเชื้อรา หรือดูดซับน้ำได้ดี เพราะละอองน้ำจะซึมผ่านผ้าเกิดการหมักหมมจนเกิดเชื้อรา ทำให้ห้องน้ำไม่น่ามอง หรือผ้าม่านที่โปร่งบางมองผ่านได้ชัดและน้ำหนักเบาไม่ทิ้งตัว เมื่อมีลมพัดผ่านจะทำให้ผ้าสะบัดตามลมได้ง่าย ทำให้การใช้งานไม่เป็นส่วนตัว

ห้องนั่งเล่น หรือห้องรับแขก (Living Room)

ห้องนั่งเล่นหรือห้องรับแขก มักจะอยู่ในตำแหน่งส่วนหน้าสุดของบ้าน จึงเป็นจุดที่บุคคลภายนอกจะเห็นได้ชัดที่สุด การเลือกผ้าม่านต้องพิถีพิถันเป็นพิเศษ เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ของบ้านไปด้วยในตัว


Do : ติดม่านที่มีคุณสมบัติกรองแสงได้ แต่คงความเป็นส่วนตัวโดยไม่ปิดจนทึบจนเกินไป เลือกดีไซน์ที่เข้ากับโทนสีและสไตล์ของห้อง เช่น ห้องสไตล์วินเทจผนังสีครีม อาจเลือกผ้าม่านลายดอกไม้สดใส หรือห้องขนาดเล็ก ๆ ก็ติดตั้งม่านแบบพับสีอ่อน ๆ ที่ไม่กินพื้นที่ เป็นต้น สีสันที่ใช้ควรสื่อถึงความเป็นมิตรและผ่อนคลาย ในห้องทั่วไปการทำม่าน 2 ชั้น คือ มีผ้าม่านกันแสงชั้นหนึ่ง และมีผ้าโปร่ง ๆ อีกชั้น จะช่วยเพิ่มบรรยากาศให้ห้องได้ดี

Don’t : ในห้องเล็ก ๆ ไม่ควรเลือกผ้าม่านที่มีลายขนาดใหญ่ เพราะจะทำให้ห้องดูแคบและชวนอึดอัด เนื้อผ้าไม่หนาและทึบจนแสงส่องผ่านเข้าไปไม่ได้ ไม่ควรเลือกผ้าม่านก่อนเลือกสีผนังหรือเห็นภาพรวมของห้อง เพราะหากผ้าม่านไม่เข้ากับห้องจะดูไม่สบายตา สำหรับห้องรับแขกผนังกระจกไม่ค่อยเหมาะกับม่านแบบม้วน เนื่องจากมีบางส่วนที่ปิดบังวิสัยทัศน์ มองเห็นด้านนอกได้ไม่เต็มที่

ห้องทำงาน (Working Room)

ห้องทำงานเป็นห้องที่ผู้ใช้งานต้องการสมาธิสูง และมีความเป็นส่วนตัว แต่ต้องมีแสงสว่างเพียงพอต่อการถนอมสายตา การเลือกผ้าม่านจึงควรดูฟังก์ชั่นการใช้งานเป็นหลัก

Do : ควรเลือกผ้าม่านที่สามารถควบคุมแสงจากภายนอกที่จะเข้ามาในห้องได้ง่าย ไม่ทึบหรือแสงเข้าได้มากเกินไป เช่น ม่านม้วนทึบแสง ที่สามารถปิดเปิดสะดวก ควบคุมตำแหน่งที่ต้องการปิดหรือเปิดรับแสงได้ หรือม่านมูลี่แบบปรับองศา ช่วยควบคุมปริมาณแสงให้เหมาะกับการใช้งานในแต่ละวันได้อย่างเหมาะสม สำหรับโทนสีที่ใช้ อาจเลือกตามภาพรวมของห้องหรือตามความชอบ

Don’t : ไม่ควรใช้ผ้าม่านม้วนแบบโปร่งแสง เพราะแสงจะส่องผ่านเข้ามาในห้องในปริมาณมากเกินไป ทำให้ภายในห้องสะสมความร้อนและเกิดแสงจ้ารบกวนการใช้สายตาขณะทำงาน สีและลวดลายของผ้าม่านในห้องทำงานไม่ควรใช้สีหลายเฉดหรือลายมากเกินไป เพราะอาจเสียสมาธิในการทำงานได้ง่าย ยกเว้นห้องทำงานที่ต้องการกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์

ห้องนอน (Bedroom)

ห้องนอนเป็นห้องที่ใช้งานมากที่สุดในบ้าน อย่างต่ำวันละ 6-8 ชั่วโมง เพื่อพักผ่อนนอนหลับและทำกิจกรรมส่วนตัว จึงควรมีบรรยากาศเหมาะกับการพักผ่อนอย่างเต็มที่ ไม่มีแสงรบกวน

Do : ผ้าม่านในห้องนอนต้องช่วยกันกรองแสงได้ดี เพื่อสร้างความรู้สึกเป็นส่วนตัว ไม่ถูกแสงรบกวนขณะนอนหลับ ควรเลือกใช้ผ้าม่านแบบแบล็คเอาท์ (Blackout) ซึ่งเป็นผ้าแบบทึบแสง กันแดดได้ 100% หรือผ้าม่านกันแสงดิมเอาท์ (Dim-out) ที่มีคุณสมบัติการกันแสงและความร้อนได้ดี

Don’t : ไม่ควรใช้ผ้าม่านโปร่ง ผ้าโปร่ง ๆ (Sheer) เพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะห้องที่หัวนอนติดผนังกระจกขนาดใหญ่ เพราะแสงและความร้อนจะเข้ามาในตัวห้องได้มากกกว่าปกติในตอนเช้า แสงปริมาณมากจะรบกวนการนอนทำให้หลับไม่สนิท ไม่เหมาะกับการพักผ่อนนาน ๆ และไม่เป็นส่วนตัว


ข้อมูลจาก : บ้านไอเดีย

Sirispace New update