7 จุดห้ามพลาด ตรวจเช็คบ้านก่อนเซ็นรับมอบ


ข่าวสาร admin 12 ม.ค. 2561

ตรวจรับบ้าน

7 จุดพื้นฐาน ที่เจ้าของบ้านตรวจเช็คเองได้

ความใฝ่ฝันในชีวิตของผู้อ่านมีอะไรบ้างครับ เชื่อได้ว่าหนึ่งในตัวเลือกความฝันของคนส่วนใหญ่ มีคำว่า “บ้าน” อยู่ร่วมด้วย คนจำนวนมากฝันอยากจะมีบ้านเป็นของตนเอง เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตร่วมกับครอบครัวได้อย่างเป็นสุข เพราะไม่ว่าเราจะพบเจอเรื่องราวว้าวุ่นใจจากที่ไหน หรือไปเที่ยวที่ไหนมา แม้สถานที่ดังกล่าวจะผ่อนคลายหรือสวยงามมากเพียงใด ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า กลับมาอยู่บ้านย่อมรู้สึกอบอุ่นใจ สุขใจยิ่งกว่า

แต่การจะไปให้ถึงความฝันได้นั้น ต้องใช้เงินลงทุนมูลค่าหลักแสนหลักล้าน จำเป็นต้องเก็บหอมรอมริบ ขยันทำงานเพื่อให้ได้เงินมาดาวน์ ได้เงินมาผ่อนบ้าน การลงทุนที่มีมูลค่าสูงเช่นนี้ แน่นอนว่าทุกคนอยากได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า ได้บ้านตรงกับที่คิดฝันไว้ แต่ในยุคปัจจุบันเรากลับได้ยินข่าวเกี่ยวกับการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่ตรงกับที่เจ้าของบ้านได้กำหนดไว้ในสัญญา ทำให้ผู้เป็นเจ้าของบ้านเสมือนถูกเอาเปรียบและรู้สึกแย่ไปโดยปริยาย สำหรับเนื้อหาชุดนี้ นำข้อมูลการตรวจรับบ้านเพื่อให้ผู้อ่านได้ตรวจเช็คเบื้องต้นได้ว่า บ้านหลังใหม่ที่กำลังเป็นบ้านของเรานั้น มีส่วนใดผิดพลาดในกระบวนการก่อสร้างบ้าง

ก่อนจะลงมือตรวจเช็ค เตรียมความพร้อมกันด้วยเครื่องมืออุปกรณ์ในการตรวจรับบ้าน เพื่อที่จะได้ตรวจเช็คได้อย่างละเอียดและสะดวกมากยิ่งขึ้นครับ

  • ไฟฉาย ใช้สำหรับส่องตรวจเช็คในจุดที่มีแสงสว่างน้อย
  • สายชาร์ตโทรศัพท์ ใช้สำหรับทดสอบปลั๊กไฟ
  • ขนมปัง(เลี้ยงปลา) ใช้ทดสอบชักโครกแทนมูล
  • ลูกแก้วหรือลูกปิงปอง ใช้เช็คระดับความลาดเอียงของพื้น
  • ไม้ตรงยาว ๆ ใช้เช็คระนาบของพื้นผิวต่าง ๆ
  • กล้องถ่ายรูป บันทึกภาพจุดที่ต้องแก้ไขไว้เป็นหลักฐาน
  • เทปพันสายไฟพร้อมกรรไกร ใช้สำหรับแปะจุดที่ต้องแก้ไข
  • กระดาษและปากกา จดบันทึกรายการที่ต้องแก้ไข

7 จุดที่เจ้าของบ้านสามารถตรวจเช็คได้ด้วยตนเอง

ตรวจสอบภายนอกตัวบ้าน

ภายนอกบ้านจะครอบคลุมไปถึงส่วนที่อยู่ภายนอกบ้านทั้งหมด ทั้งงานสวน รั้ว ระเบียง ทางเดิน โรงจอดรถ

  • รั้วบ้านส่วนใหญ่นิยมทำด้วยโลหะ ทำการตรวจเช็คสี รอยสนิมและความฝืดในการเปิด-ปิด
  • ระเบียงบ้าน ตรวจเช็คร่องรอยตำหนิ ดูความเรียบร้อยในการติดตั้ง เช็คระนาบพื้นว่ามีการทรุดเอียงหรือไม่
  • ผนังภายนอก โดยส่วนมากมักมีตำหนิที่เกิดจากการทาสีและงานฉาบ ผนังต้องเรียบ
  • พื้นดิน เช็คระดับพื้นดินให้ได้ระดับ ไม่เป็นหลุม เป็นบ่อ
  • ท่อระบายน้ำ ตรวจเช็คโดยการเทน้ำลงท่อ ดูความลาดเอียงว่าสามารถระบายน้ำได้หรือไม่

ระบบพื้น ผนัง

งานระบบพื้น เป็นส่วนที่เจ้าของบ้านสามารถตรวจเช็คด้วยตนเองได้ง่าย แนวทางการตรวจเช็คให้ทำการตรวจทุก ๆ ตร.ม. โดยการเดินเป็นแนวตรงจากนั้นเดินวนกลับมาจนกว่าจะทั่วทั้งห้อง ปัญหางานพื้นที่พบเจอ ส่วนใหญ่เกิดจากการติดตั้งที่ไม่ปราณีต พื้นไม่ได้ระดับ เช่น พื้นกระเบื้อง ตรวจเช็คระดับพื้นโดยการเอาลูกแก้วมาวาง หากลูกแก้วไม่กลิ้งแสดงว่าได้ระดับดี, ตรวจเช็คด้วยการใช้เหรียญเคาะเพื่อทดสอบความกลวงใต้กระเบื้อง การปูกระเบื้องที่ดีเคาะแล้วเสียงจะแน่น กรณีปูพื้นด้วยลามิเนตหรือไม้เทียม พื้นจะต้องเรียบไม่โก่งด้านใดด้านหนึ่ง

ส่วนงานผนังทำการตรวจสอบผิวสี งานฉาบและระยะดิ่ง หากสังเกตได้ด้วยตาเปล่าว่าผนังเอียง ให้แจ้งรื้อผนังออกแล้วก่อใหม่ ตรวจเช็คระนาบของปูนฉาบจะต้องเรียบสนิท ไม่ปูดนูนหรือเป็นหลุมบ่อ ไม่มีรอยแตกร้าวทั้งรอยเล็กและรอยใหญ่ กรณีผนังกรุด้วยวัสดุตกแต่ง ให้ตรวจเช็คการติดตั้ง จะต้องแน่นสนิท ดึงออกมาแล้วไม่หลุดโดยง่าย

ระบบโครงสร้างบ้าน

โครงสร้างบ้านเป็นส่วนที่มองไม่เห็นจากภายนอก เนื่องด้วยถูกทับไปด้วยปูนฉาบ แต่พอจะสังเกตความผิดปกติได้เบื้องต้นด้วยสายตา ทั้งรอยร้าวของผนัง รอยร้าวบริเวณมุมวงกบ รอยร้าวบริเวณเสา คาน และตรวจเช็คความลาดเอียงของพื้นผิวว่าน้ำขังได้หรือไม่

ระบบช่องเปิด ช่องแสง

ช่องเปิดในที่นี้หมายถึง บานประตู หน้าต่าง ช่องแสง รวมทั้งอุปกรณ์เสริม เช่น กุญแจ บานพับ กลอนประตู ทำการตรวจเช็คดูว่ามีการติดตั้งได้แนวระดับที่ถูกต้องหรือไม่ ทุกช่องเปิดต้องได้ดิ่ง ไม่บิดเบี้ยว ไม่โย้หรือเอียงไปทางใดทางหนึ่ง สามารถเปิด-ปิดได้สนิท ขณะทดสอบการเปิดแนะนำให้ลองบิดลูกบิดแรง ๆ 2-3 ครั้ง เพื่อทดสอบความแข็งแรง ตรวจเช็คความฝืด ตลอดจนตรวจสอบว่ามีการรั่วซึมจากน้ำฝนบริเวณขอบประตู หน้าต่างหรือไม่ และหากช่องเป็นงานกระจกให้ตรวจเช็คยาแนว ซิลิโคนยาแนวจะต้องติดแน่นตลอดช่วงรอยต่อ

ระบบไฟฟ้า

ตรวจสอบสวิทซ์ไฟทุกจุด ทำการเปิด ปิด หลาย ๆ ครั้ง เช็คปลั๊กไฟโดยนำสายชาร์ตโทรศัพท์ที่เตรียมไว้มาเสียบดูว่าทุกทุกเต้าเสียบสามารถใช้งานได้ปกติหรือไม่ หรือหากมีไขควงเช็คกระแสไฟก็จะช่วยให้การตรวจเช็คสะดวกยิ่งขึ้น รวมถึงกรณีมีระบบตัดไฟ ให้ลองทดสอบดูด้วยการหมุนปุ่มทดสอบ 2-3 ครั้ง ว่าปุ่มหมุนอยู่ที่ศูนย์หรือเปล่า ถ้าไม่ใช่ให้หมุนไปที่ปุ่มศูนย์ หากไฟดับแสดงว่ามีไฟรั่วในจุดใดจุดหนึ่ง

นอกจากการตรวจเช็คระบบไฟแล้ว ควรตรวจเช็คการจัดระเบียบสายไฟในตำแหน่งที่ยากต่อการมองเห็น เช่น บนฝ้าเพดาน ตรวจเช็คดูว่าได้ทำการร้อยท่อสายไฟไว้อย่างเป็นระเบียบหรือไม่

ระบบสุขาภิบาล

เปิดเช็คน้ำจากก็อกและฝักบัวทุกตัว เพื่อเช็คการไหลของน้ำ เช็คการหมุนของวาล์วเพื่อหารอยรั่วด้วยการปิดก็อกน้ำทุกตัว หากวาล์วยังหมุนหรือปั้มน้ำยังทำงาน แสดงว่ามีการรั่วซึม, ตรวจเช็คการทำงานของสุขภัณฑ์ห้องน้ำ ทั้งอ่างล้างหน้า อ่างอาบน้ำ ซิงค์ล้างจาน ดูว่าสามารถระบายน้ำได้อย่างสะดวกหรือไม่ กรณีชักโครกให้ใช้ขนมปังมาใส่ จากนั้นทดสอบกดชักโครกหรือราดน้ำดูว่า การใช้งานปกติดีหรือไม่

ระบบหลังคา

หลังคาทำหน้าที่กันแดด กันฝน ปัญหาที่กวนใจมากที่สุดคือปัญหารั่วซึม สำหรับการตรวจเช็คหลังคาอย่างละเอียดจำเป็นต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญเพราะต้องใช้บันไดขึ้นดูแสงลอดใต้ฝ้าเพดาน หากมีแสงลอดชัดเจนอาจเป็นผลให้เกิดการรั่วซึมได้ สำหรับการตรวจเช็คเบื้องต้น ให้สังเกตรอยคราบ รอยด่างที่เกิดจากน้ำโดยเฉพาะรอยคราบตรงฝ้าเพดาน กรณีที่มีการรั่วซึม สีของฝ้าเพดานในจุดที่เคยโดนน้ำจะมีรอยด่าง สีแตกต่างไปจากจุดอื่น ๆ

ข้อมูลทั้ง 7 ข้อในเนื้อหาชุดนี้ เป็นเพียงการตรวจเช็คเบื้องต้นที่เจ้าของบ้านสามารถตรวจเช็คได้ด้วยตนเอง หากผู้อ่านมีทักษะด้านช่าง อาจทำการเช็คละเอียดส่วนต่าง ๆ เพิ่มเติม บ้านไอเดียจะนำข้อมูลมาให้อ่านรายละเอียดแต่ละหัวข้อในโอกาสถัดไป แต่หากไม่มีทักษะด้านช่างแนะนำจ้างมืออาชีพตรวจรับบ้านมาเป็นผู้ช่วย



ข้อมูลจาก : บ้านไอเดีย

Sirispace New update