‘สินสอด' บทพิสูจน์รักแท้หรือเป็นได้แค่อุปสรรค


ข่าวสาร admin 26 ม.ค. 2561

เรามาดูความหมายของคำ ๆ นี้กันก่อนดีกว่า

สินสอด หมายถึง ทรัพย์สินที่ฝ่ายชายมอบให้แก่พ่อแม่ของฝ่ายหญิง เพื่อเป็นการตอบแทนที่ยินยอมให้ฝ่ายหญิงมาแต่งงานด้วย หรืออาจถือได้ว่าเป็นค่าเลี้ยงดูและค่าน้ำนม ตามธรรมเนียมแล้วสินสอดจะตกเป็นสิทธิของพ่อแม่ หรือผู้ปกครองของฝ่ายหญิงทันที แม้ยังไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันก็ตาม

ในทางเศรษฐศาสตร์นั้น “การแต่งงาน” นับว่าเป็นการสร้างข้อตกลงร่วมกัน (Binding Commitment) ระหว่างฝ่ายชายและฝ่ายหญิง และในวัฒนธรรมไทย “การให้สินสอด” ถือเป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งของการแต่งงาน

ราคาของสินสอดมักถูกกำหนดผ่านกระบวนการเจรจาต่อรอง เรียกว่า “การเจรจาสินสอด” โดยในการเรียกสินสอดของฝ่ายหญิง มักมีการตกลงเบื้องต้นก่อนขั้นตอนการเจรจาสู่ขอจริง ถ้าฝ่ายหญิงเรียกสินสอดที่สูงเกินไป ฝ่ายชายก็จะทำการต่อรอง จนกระทั่งได้มูลค่าสินสอดที่ฝ่ายหญิงพอใจ และฝ่ายชายสามารถจ่ายได้ ซึ่งปกติแล้ว การสร้างข้อตกลงร่วมกันก็สามารถนำไปสู่ความมีประสิทธิภาพได้

“มูลค่าของสินสอด” ภายหลังจากการต่อรองของทั้งสองฝ่ายจะอยู่ที่ระดับ “ราคาดุลยภาพ” (Equilibrium Price) ขณะที่ “มูลค่าสินสอดที่ฝ่ายชายเต็มใจจะจ่าย” (Willingness to Pay) ก็ไม่จำเป็นจะต้องมีค่าเท่ากันกับ “มูลค่าสินสอดที่ฝ่ายหญิงพึงจะรับ” (Willingness to Accept)

ถ้ายังนึกไม่ออกว่าจะเริ่มตั้งต้นตัวเลขการเจรจาอย่างไร ลองคำนวณตามสูตรนี้ดู

มูลค่าสินสอด = (2.2205 x รายได้ต่อเดือน) + (8,986.92 x อายุ) + (174,818.6 หากเป็นคนกรุงเทพฯ) – (454,350.5 หากจบการศึกษาไม่เกินมัธยม/ปวช.) + (227,064.1 หากแต่งงานเป็นลำดับแรกของครอบครัว) – (134,160.8 หากมีภาระต้องดูแลครอบครัวอยู่) + (1,890,610 หากเป็นผู้บริหารระดับสูง)

ลองสมมติเล่น ๆ ดูว่า ถ้าดารา ข อายุปัจจุบัน 30 ปี มีรายได้ต่อเดือนอยู่ที่ประมาณ 10 ล้านบาท ถ้าเอาไปคิดในสูตรนี้จะได้จำนวนเงินค่าสินสอดออกมาที่ 24.4 ล้านบาท แต่เนื่องจากเป็นการศึกษาที่ผ่านมาแล้วประมาณ 10 ปี ก็ต้องเอาอัตราเงินเฟ้อไปคำนวณร่วมด้วย ลองอ้างอิงด้วยตัวเลขเฉลี่ยที่ปีละ 3.5% จะได้ว่า

24,400,000 x (1+0.035)10 เท่ากับประมาณ 34.4 ล้านบาท


ประเด็นที่น่าสนใจคิดต่อก็คือ ในสภาพสังคมและเศรษฐกิจปัจจุบัน การที่หนุ่มสาวสองคนรักกัน แล้วต้องการจะตกร่องปล่องชิ้นครองคู่สร้างครอบครัวด้วยกัน ฝ่ายชายรวมทั้งครอบครัวยังต้องพยายามขวนขวายหาค่าสินสอดแพง ๆ อยู่อีกหรือไม่ ในขณะที่อีกด้านหนึ่ง ครอบครัวของฝ่ายหญิงจะสามารถคำนวณค่าสินสอดออกมาได้ในระดับไหนจึงจะไม่ถูกคำครหาติฉินนินทาว่าเจตนาขายลูกหรือเปล่า

ในขณะที่มีหลายครอบครัวไม่น้อยที่เมื่อจะมาดองกันแล้ว ใช้วิธีร่วมกันลงขันให้เป็นค่าสินสอด แล้วพอลูกสาวและลูกชายของทั้งคู่ออกเรือนไป ก็นำเงินจำนวนนั้นมอบให้เป็นทุนตั้งต้นไปสร้างเนื้อสร้างตัว หรือแม้แต่เอาไปไว้เตรียมเลี้ยงดูลูก ซึ่งก็คือทายาทสืบตระกูลของครอบครัวทั้งสองนั่นเอง

ที่อินเดียก็มีประเพณีแบบนี้เช่นกัน เรียกว่า Dowry System แต่กลับด้านกัน เนื่องจากครอบครัวฝ่ายหญิงจะต้องมอบดาวรีให้กับครอบครัวฝ่ายชาย (ดาวรี หมายถึง เงิน สิ่งของ หรือที่ดินที่ฝ่ายหญิงนำติดตัวมาด้วยเพื่อมาแต่งงาน)


แต่ประเพณีนี้เสื่อมถอยลงนับตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา เนื่องจากฝ่ายว่าที่เจ้าบ่าวและครอบครัวมีความโลภมากขึ้น พวกเขาเรียกร้องดาวรีสูงมาก จนทางครอบครัวว่าที่เจ้าสาวไม่อาจสนองตอบได้ตามนั้น พอแต่งงานกันไปแล้วผลที่ตามมาคือ ความตายของดาวรี (dowry deaths) ซึ่งหมายถึง การเผาเจ้าสาวทั้งเป็น ถ้าได้ดาวรีมาไม่ครบถ้วนตามที่เรียกร้อง

จะว่าไปแล้ว ไม่ว่าตั้งใจหรือบังเอิญก็ตาม สินสอดยังเป็นแนวร่วมมุมกลับของลัทธิผู้ชายเป็นใหญ่ เพราะการกดขี่ข่มเหงภรรยาที่เกิดขึ้นมาแล้วมากมาย ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะกรอบความคิดที่ว่าผู้ชายได้ยกทรัพย์สินเงินทองที่หาได้มาสู่ขอหญิงสาวให้มาอยู่ในความครอบครองของเขา เมื่อถูกครอบงำด้วยแนวคิดความเป็นเจ้าของ ผู้ชายจำนวนไม่น้อยจึงลืมนึกถึงความทะนุถนอม หากแต่คิดถึงการทำอะไรก็ได้ตามอำเภอใจแทน

ทุกวันนี้ไม่ว่าสินสอดจะยังทำหน้าที่ได้สมเจตนารมณ์ดังเดิมที่ฝ่ายชอบมอบให้กับครอบครัวฝ่ายหญิงเพื่อเป็นการตอบแทนในการเลี้ยงดูว่าที่ศรีภริยาของสามี หรือจะถูกลดบทบาทลงเสมือนเป็นเพียงหนึ่งในพิธีกรรมการแต่งงานก็ตาม หรือกระทั่งว่ามีเจ้าสาวหลายคนในยุคนี้ที่ปฏิเสธสินสอดอย่างสิ้นเชิง แม้กระทั่งจะทำตามขนบธรรมเนียมหรือพิธีการเฉย ๆ โดยไม่มีการเปลี่ยนมือของเงินทองก็ไม่คิดจะรับไว้

แต่ถึงที่สุดแล้ว หากคู่รักและครอบครัวทั้งสองฝ่ายมุ่งมั่นที่จะหาข้อสรุปร่วมกันในการที่จะให้ทั้งคู่ได้จับมือเดินหน้าสร้างครอบครัว พิสูจน์รักแท้กันต่อไป

ค่าสินสอดก็อาจจะไม่ใช่ตัวแปรสำคัญที่ทำให้ความสัมพันธ์ต้องยุติลง



ข้อมูลจาก : Sanook

Sirispace New update