ก็งใบจองคอนโดพุ่ง แนวรถไฟฟ้าสุดฮิต แบงก์เบรกบ้าน 0%


ข่าวสาร admin 5 ก.ค. 2560

สัญญาณอันตรายลูกค้าแห่เก็งกำไรใบจองคอนโดมิเนียมแนวรถไฟฟ้าทะลัก หวังฟันส่วนต่าง เจอตอคนซื้อต่อกู้ไม่ผ่านต้องแบกไว้เอง ที่สุดผ่อนไม่ไหวกลายเป็นเอ็นพีแอล “วิรไท”รับแบงก์แข่งเดือดต้นตอดีมานด์เทียมกรุงไทย-ซีไอเอ็มบีไทย เบรกแคมเปญ 0%

แหล่งข่าวจากธนาคารขนาดใหญ่ กล่าวว่าในกลุ่มลูกค้าบุคคลของธนาคารเริ่มเห็นสัญญาณการขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อเก็งกำไรโดยเฉพาะการจองซื้อคอนโดมิเนียมตอนเปิดโครงการใหม่ๆตามแนวรถไฟฟ้า โดยบางรายจองซื้อหลายยูนิต เพื่อหวังจะขายต่อและรับกำไรส่วนต่างจากราคาที่ปรับขึ้นรวดเร็ว

“บางคนจะจองกันหลายยูนิตเพื่อที่จะขายต่อทำกำไร เราพบว่าผู้ที่มาซื้อต่อบางรายไม่สามารถขอกู้กับธนาคารได้ ทำให้คนที่จองซื้อคอนโดมิเนียมต้องรับภาระผ่อนชำระกับธนาคารเอง แต่ความสามารถในการผ่อนชำระไม่ต่อเนื่องจึงเกิดเป็นหนี้เสียในที่สุด”แหล่งข่าวกล่าวและว่า

“แม้แบงก์จะสกรีนลูกค้าทุกลุ่มผ่านช่องทางต่างๆอย่างเข้มงวดทั้งหลักเกณฑ์ของแบงก์ และเช็คข้อมูลจากเครดิตบูโรเพื่อดูว่าลูกค้ามีภาระหนี้ หรือถือห้องไว้กี่ห้อง แต่จะให้กรองยังไงที่สุดก็หลุดออกมา โดยเฉพาะกลุ่มที่ยังมีกำลังซื้อ”

 


นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า กรณีที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล)ไตรมาสแรกเพิ่มขึ้นมากในกลุ่มสินเชื่ออยู่อาศัย เป็นผลมาจาก 2-3 ปีที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์แข่งขันสูงเพื่อชิงส่วนแบ่งตลาด (มาร์เก็ตแชร์) ของสินเชื่อที่อยู่อาศัย จึงเสนอแคมเปญพิเศษเพื่อจูงใจ เช่น การให้วงเงินการปล่อยกู้ต่อสินทรัพย์ค้ำประกัน (LTV) ในอัตราที่สูง หรือการเสนออัตราดอกเบี้ย 0% ในช่วงปีแรก และผ่อนระยะจำนวนสูงในช่วงท้ายๆทำให้ผู้กู้ประสบปัญหาการผ่อนชำระในช่วงที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว

ดังนั้นตัวเลขเอ็นพีแอลที่เห็นปรับเพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งมาจากการเสนอแคมเปญที่เป็นรุ่นตกค้าง ซึ่งธนาคารพาณิชย์ได้รับทราบและกำลังปรับปรุงและปัญหาดังกล่าวอยู่ โดยจะเห็นธนาคารพาณิชย์ตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญไว้แล้วสำหรับหนี้เหล่านี้ อย่างไรก็ตามจึงต้องแยกระหว่างการทำแคมเปญใหม่ และการแข่งขันเพื่อชิงตลาด

“หนี้ที่เกิดขึ้น เป็นรุ่นลิมิเต็ดที่เกิดจากที่แบงก์ลุกขึ้นมาแข่งชิงมาร์เก็ตแชร์ และแข่งกันเสนอแคมเปญต่างๆ ที่ดึงดูดลูกค้า แต่เอ็นพีแอลพิ่งจะมาสะท้อนให้เห็นในช่วงนี้ แบงก์รับทราบและตั้งสำรองฯ ไว้ทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว”

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ช่วงที่ผ่านมาสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารกรุงไทยถูกรีไฟแนนซ์ออกไปค่อนข้างเยอะ ทำให้ยอดสินเชื่อปล่อยใหม่ไม่ค่อยเติบโต และยอดสินเชื่อคงค้างก็ปรับลดลง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากแคมเปญอัตราดอกเบี้ยต่ำ ทำให้ลูกค้ารีไฟแนนซ์ออกไป ซึ่งตอนนี้ธนาคารเริ่มป้องกันการโดนรีไฟแนนซ์มากขึ้น เช่น การเข้าหาลูกค้าให้เร็วมากขึ้น เป็นต้น

อย่างไรก็ตามธนาคารจะไม่เน้นการทำแคมเปญ 0% ในช่วงระยะแรก และไปเพิ่มอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นในช่วงหลัง เนื่องจากจะพบว่าการทำแคมเปญในลักษณะดังกล่าวที่ผ่านมาในระบบธนาคารพาณิชย์จะเห็นการขาดทุน หรือมาร์จิ้นที่หายไป ในส่วนของกรุงไทยจะเน้นลูกค้าที่มีศักยภาพและมีคุณสมบัติตามเงื่อนไขของผู้กู้ ทำให้คุณภาพสินเชื่อค่อนข้างดี

นายอดิศร เสริมชัยวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายธุรกิจรายย่อย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ธนาคารเน้นการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยกับผู้ที่ต้องการมีบ้านที่แท้จริง ทำให้กลุ่มที่มีดีมานด์เทียมเข้ามาน้อยมาก แม้ว่าจะมีการปล่อยสินเชื่อสำหรับซื้อที่อยู่อาศัยหรือคอนโดมิเนียมหลังที่ 1, 2 และ 3 แต่ธนาคารจะมีการพิจารณาการปล่อยสินเชื่อตามความสามารถในการผ่อนชำระหนี้เป็นหลัก ซึ่งสะท้อนผ่านเอ็นพีแอล ของกลุ่มสินเชื่อที่อยู่อาศัยมีอยู่เพียง 0.7-0.8% จากเอ็นพีแอลรวมสินเชื่อรายย่อยทั้งหมดอยู่ที่ 3.8-3.9%

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,263 วันที่ 21 - 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

Sirispace New update