เทคนิคการออมเงิน เพื่อเตรียมตัวซื้อบ้าน


ข่าวสาร admin 31 ต.ค. 2560

ชีวิตวัยทำงานเมื่อถึงจุดหนึ่งก็จะเริ่มคิดถึงการมีบ้านเป็นของตัวเอง หลายรายบ่นอยากมีบ้านแต่ยังไม่มีเงินเก็บเพราะไม่รู้จะเริ่มต้นเก็บยังไง หรือเห็นโครงการบ้านจัดสรรบางโครงการประชาสัมพันธ์ว่ากู้ได้ 100% ไม่ต้องดาวน์ เลยอาจจะทำให้คิดไปได้ว่าไม่ต้องมีเงินออมก็อาจจะซื้อได้ วันนึ้เราลองมาดูกันว่า เงินออมสำคัญหรือไม่หากสำคัญจริงจะออมวิธีไหนดี

ก่อนซื้อบ้านต้องมีเงินออม

สิ่งแรกสุดที่คนซื้อบ้านต้องถามตัวเองเมื่อมีความคิดจะซื้อบ้านก็คือ ตอนนี้มีเงินเก็บอยู่เท่าไหร่แล้ว ซึ่งก็น่าจะเปรียบเทียบได้กับการกู้ซื้อรถยนต์ที่ผู้ซื้อทุกคนทราบดีอยู่แล้วว่าจะต้องจ่ายเงินดาวน์อย่างน้อย 20% แล้วยังมีค่าประกันค่าจดทะเบียนอะไรอีกมากมาย

การซื้อบ้านก็เป็นลักษณะเดียวกัน ผู้ซื้อควรจะมีเงินเก็บไว้แล้วส่วนหนึ่งซึ่งโดยทั่วไปแล้วก็ประมาณ 20% ของราคาบ้านที่จะซื้อ แม้ผู้ซื้อบางรายอาจจะมองว่าหลายโครงการประชาสัมพันธ์ว่าสามารถยื่นกู้ได้ 100% แต่จะพบว่ามักจะเป็นโครงการที่เราอาจจะไม่ชอบในเรื่องของทำเลที่ตั้งหมู่บ้าน หรือบางครั้งก็เหลือบ้านหลังที่ไม่มีใครเอา ทางโครงการจึงลดราคาขายลงมาให้ต่ำลงเพื่อส่งเสริมการขายจนเท่ากับวงเงินที่พอจะซื้อบ้านได้พอดี

ในช่วงที่เศรษฐกิจอยู่ในภาวะปกติที่ทางสถาบันการเงินและโครงการบ้านจัดสรรไม่จำเป็นต้องทำรายการส่งเสริมการขายใดๆออกมา จะพบว่าสถาบันการเงินอาจจะมีการปล่อยกู้ไม่เต็ม 100% ของราคาประเมิน เช่นอาจจะปล่อยกู้เพียง 90% ของราคาประเมิน ทำให้ผู้ซื้อจะต้องจ่ายเองในส่วนของ 10% ที่เหลือ ซึ่งก็หมายความว่าผู้ซื้อจะต้องมีการเก็บเงินส่วนนี้เอาไว้แล้ว โดยหากเป็นโครงการใหม่หลังจากเราจองแล้วทางโครงการก็จะมีรูปแบบให้เราผ่อนเป็นงวดๆ ซึ่งเมื่อผ่อนจนหมดบ้านสร้างเสร็จ เงินผ่อนเหล่านั้นก็ถือเป็นเงินดาวน์หักลบแล้วเราก็จะกู้เฉพาะส่วนต่างซึ่งอาจจะเหลือเพียง 80% ของราคาบ้านก็ได้

นั่นแสดงว่าก่อนที่เราจะซื้อบ้านได้เราจะต้องมีเงินดาวน์ก่อนส่วนหนึ่ง ซี่งอาจจะอยู่ในรูปของเงินสดที่เก็บออมไว้ก่อนหน้านี้แล้ว หรืออาจจะเป็นการทยอยจ่ายเงินดาวน์ผ่านโครงการด้วยระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งโครงการบ้านจัดสรรที่เปิดใหม่มักจะใช้วิธีให้ลูกค้าผ่อนดาวเป็นงวดๆ เช่น บางโครงการจะเริ่มจากค่าจอง 10,000 บาท ค่าทำสัญญา 50,000 บาท จากนั้นผ่อนไปเป็นงวดๆ งวดละ 25,000 บาท เป็นระยะเวลา 10 เดือน และผ่อนดาวน์งวดสุดท้ายที่ 90,000 บาท เป็นต้น

จากตัวอย่างข้างต้นจะรวมเงินที่เราชำระทั้งสิ้น 400,000 บาท ซึ่งจะคิดเป็น 20% ของราคาบ้านที่ตั้งราคาขายไว้ 2 ล้านบาท เป็นต้น ซึ่งรายละเอียดต่างๆเหล่านี้เราสามารถทราบได้จากเอกสารชี้ชวนสำหรับการซื้อบ้านจัดสรรโดยทั่วไป ซึ่งอาจจะมีรายละเอียดแตกต่างกันตามแต่ละโครงการ

ต้องมีเงินออมเป็นจำนวนเท่าใด

ในเมื่อต้องมีเงินเก็บออมไว้สำหรับการซื้อบ้าน คำถามต่อไปก็คือ แล้วต้องมีเงินออมเป็นจำนวนเท่าใดถึงจะซื้อบ้านได้ แน่นอนว่าคนที่มีเงินออมเยอะๆเกินครึ่งของราคาบ้านคงไม่ต้องถามคำถามนี้อีกแล้ว แต่สำหรับคนเพิ่งเริ่มต้นวัยทำงานแล้วต้องการอยากมีบ้าน เมื่อมองถึงเงินเดือนของตัวเองและคำนวณแล้วว่า เงินเดือนแค่นี้สามารถกู้เงินซื้อบ้านได้ที่ราคาเท่าไหร่ คำถามต่อมาก็คงเป็นว่าควรจะมีเงินเก็บอยู่อย่างน้อยเท่าไหร่นั้นเอง

วิธีคิดง่ายๆ สำหรับคนอยากมีบ้านก็คือ ควรมีเงินออมอย่างน้อยที่ประมาณ 20% ของราคาบ้านที่จะซื้อ นั่นเพราะสถาบันการเงินส่วนใหญ่จะปล่อยกู้ให้กับลูกค้าทั่วไปที่ประมาณ 80% ของราคาประเมิน ยกเว้นโครงการบ้านจัดสรรบางโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารที่เรายื่นกู้พอดี ซึ่งอาจจะมีโปรโมชั่นในการให้ยื่นกู้ได้ 90 – 100% ของราคาขาย (โดยไม่คำนึงถึงความสามารถของผู้กู้) ซึ่งข้อมูลนี้สามารถขอทราบได้จากเจ้าหน้าที่ฝ่ายขายซึ่งมักจะแนะนำหรือดำเนินการด้านเอกสารการยื่นกู้เงินจากสถาบันการเงินให้อยู่แล้ว

ในกรณีนี้จะทำให้เราไม่ต้องใช้เงินออมไปกับการดาวน์บ้าน แต่จะถูกนำมาใช้ในการตกแต่งเพิ่มเติมหรือซื้อหาเฟอร์นิเจอร์และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ แทน

สำหรับเงินออมประมาณ 20% ของราคาบ้านนั้นถือเป็นตัวเลขขึ้นต่ำของเงินที่จะต้องใช้ในการถือกรรมสิทธิ์ในบ้านที่เราต้องการเท่านั้น นอกจากนี้แล้วเรายังต้องจ่ายค่าธรรมเนียมในการโอนที่ 2% ราคาซื้อขาย ค่าธรรมเนียมการจดจำนองที่ 1% ของวงเงินกู้ และอาจรวมไปถึงค่าภาษีเงินได้ ภาษีธุรกิจเฉพาะอีกด้วยหากเป็นการซื้อขายกับบุคคลธรรมดาทั่วไป

ทำให้ในความเป็นจริงเราอาจจะต้องใช้เงินเพิ่มเติมอีกประมาณ 5% ของราคาบ้าน สำหรับการจ่ายค่าธรรมเนียมต่างๆเหล่านี้หากหน่วยงานของรัฐไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใดๆออกมา หรือทางโครงการหรือผู้ขายผลักภาระทั้งหมดมาให้ผู้ซื้อ

สรุปแล้วเราจึงควรออมเงินให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยอย่างน้อยควรสะสมเงินให้ได้ประมาณ 25% ของราคาซื้อขายนั่นเอง นั่นหมายถึงว่าหากบ้านหลังนั้นซื้อขายที่ราคา 2 ล้านบาท เราควรจะมีเงินออมที่ประมาณ 500,000 บาท ซึ่งอาจจะเป็นเงินออมที่มีอยู่แล้วหรือเป็นเงินออมที่นับถึงวันโอนกรรมสิทธิ์บ้านก็ได้

วิธีการออมเงินให้ได้อย่างรวดเร็ว

การออมเงินควรฝึกให้เป็นนิสัยตั้งแต่วัยยังเล็ก เพราะการออมเงินถือเป็นการเอาชนะใจตัวเอง ที่ต้องอดออม ลดความอยากมีอยากได้แล้วเก็บเงินส่วนนั้นไว้โดยไม่ใช้จ่ายออกไปในสิ่งที่ไม่จำเป็น

เราจะเห็นได้ว่าในวัยทำงานเมื่อได้รับเงินเดือน 15,000 บาท เราจะรู้สึกว่าใช้เงินได้พอดีแบบเดือนชนเดือนแทบไม่เหลือเก็บ ในใจคิดว่าถ้าได้เงินเดือน 20,000 บาท ก็น่าจะเหลือเก็บบ้าง แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งได้เงินเดือน 20,000 บาท ก็ยังไม่เหลือเก็บอยู่ดีและจินตนาการไปว่าหากได้เงินเดือน 30,000 บาท น่าจะเหลือเก็บบ้าง และพอถึงจุดนั้นจริงๆ ก็ยังเป็นแบบเดิมคือเงินไม่พอใช้เหมือนเดิม

คำถามคือเงินหายไปไหนหมด แม้เงินเดือนจะเพิ่มจากเดิมเท่าตัวเมื่อเทียบกับสมัยเริ่มทำงานใหม่ๆ ซึ่งหากเราพิจารณาในรายละเอียดแล้วจะพบว่า เมื่อเงินเดือนเพิ่มขึ้นสภาพความเป็นอยู่ก็เปลี่ยนไปจากเดิมมากขึ้น เช่นจากห้องเช่าราคาถูก ก็เปลี่ยนมาเป็นห้องเช่าราคาแพงขึ้น จากเดิมขับมอเตอร์ไซค์ไปทำงาน ก็กลายมาเป็นรถยนต์มือสองเป็นต้น นั่นคือเมื่อรายได้เพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายก็เพิ่มขึ้นด้วย เนื่องจากความต้องการภายในใจที่ต้องการความสะดวกสะบายไม่อยากจะลำบากเหมือนแต่ก่อน

ดังนั้นการออม ถ้าจะให้สื่อถึงคำจำกัดความที่ยาวขึ้นก็คือการอดทนอดออมนั่นเอง นั่นคือเราจะต้องยอมสละความสบายส่วนเกิน ข่มใจตัวเองในการซื้อหาสิ่งของบริโภคที่แม้ไม่มีไม่ทำก็ไม่ถึงกับทำให้เกิดความลำบากยากแค้นอะไร เช่นการลดละเลิกอบายมุขต่างๆ เช่น งดดื่มเหล้า งดสูบบุหรี่ งดเที่ยวกลางคืน รวมไปถึงเลิกบริโภคอาหารราคาแพงตามร้านหรูๆ เช่นกาแฟแก้วละ 100 บาท ร้านอาหารปิ้งย่าง อาหารต่างชาติ ลดการทานอาหารนอกบ้าน

นอกจากนี้แล้วสำหรับสุภาพสตรี สิ่งที่ดูดเงินไปจากกระเป๋าได้มากที่สุดก็คงเป็นสินค้าประเภทบำรุงผิว เครื่องสำอางค์ น้ำหอมต่างๆ ที่พอเห็นเพื่อนซื้อยี่ห้อดังๆมา ตัวเองก็อยากมีบ้าง เลยทำให้ต้องเสียเงินไปโดยใช่เหตุ ที่ซื้อเพียงเพื่อสร้างความพึงพอใจให้ตนเองว่า ตัวเองก็มีความสามารถในการซื้อหามาได้ไม่น้อยหน้าใครเท่านั้น

เมื่อเรารู้สาเหตุข้างต้นแล้วว่า เงินทองส่วนใหญ่มักจะเสียไปกับการซื้อหาสินค้าอุปโภคบริโภคที่ไม่จำเป็นซึ่งในความเป็นจริงแล้วเราสามารถหาสินค้าที่คุณภาพดีมาใช้ทดแทนกันได้ แทนที่จะต้องจ่ายด้วยเงินจำนวนมากเพราะสินค้ามีราคาสูงอันเกิดมาจากต้นทุนทางการตลาดทั้งนั้น การออมเงินให้ได้เร็วจึงควรสร้างข้อจำกัดการใช้เงินด้วยตัวเอง ด้วยวิธีการที่ได้รับความนิยมดังต่อไปนี้คือ

เงินเดือนออก หักเงินออมเป็นค่าใช้จ่าย

ผู้คนส่วนใหญ่ที่สามารถออมเงินได้อย่างรวดเร็วมักจะใช้วิธีการนี้ ซึ่งเหมาะสำหรับคนที่ขาดวินัยในการออมและต้องการเริ่มออมเงินอย่างรวดเร็ว

วิธีการก็คือ ในวันที่เงินเดือนออก ก็ให้ถอนเงินจำนวนหนึ่งออกมา แล้วฝากเข้าบัญขีอื่นทันทีโดยไม่มีข้อแม้ ตัวอย่างเช่น หากตัวเองได้รับเงินเดือน 20,000 บาท ที่ผ่านมาใช้หมดทุกเดือนเหลือติดบัญชีแค่ไม่กี่ร้อยบาทในช่วงสิ้นเดือน พอมีเงินเดือนเข้าบัญชีอีกรอบ ก็ถอนเงินจำนวน 5,000 บาท ฝากเข้าบัญชีฝากประจำที่เปิดไว้แล้ว และต้องทำลืมไปแล้ว และให้มองว่าเงิน 5,000 บาทนี้คือค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายออกไปและไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้

จริงๆแล้ว รูปแบบการใช้เงินในลักษณะนี้ผู้ออมเองก็เคยประสบพบเจอมาแล้ว เช่นมีเรื่องจำเป็นต้องซื้อมือถือเครื่องใหม่ หรือเคยต้องซ่อมรถ หรืออาจจะเคยต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาล หรือเรื่องราวที่ไม่คาดคิดอื่นๆ และเดือนนั้นทั้งเดือนก็ต้องอยู่กับเงินที่เหลือให้ได้ แม้จะต้องงดกินอาหารนอกบ้าน ลดการซื้อของฟุ่มเฟือยอย่างอื่นลงไป

จากกรณีที่เหตุการณ์แบบนั้นเกิดขึ้นนานๆครั้ง เราก็จำลองว่ามันเกิดขึ้นทุกเดือน ทำให้เราต้องจ่ายทุกเดือน และจะต้องใช้ชีวิตกับเงินที่เหลือจำนวน 15,000 บาทนั้นให้ได้โดยไม่ต้องไปหยิบยืมเงินจากใคร แม้จะไม่สะดวกสบายเหมือนเก่าแต่เมื่อเราทำเป็นนิสัย ก็จะทำให้เราสามารถเก็บเงินได้เป็นกอบเป็นกำมากขึ้น

การออมในลักษณะนี้ จะทำให้ทุกครั้งที่เราจับจ่าย เราจะเห็นยอดเงินในบัญชีค่าใช้จ่ายของเราลดน้อยลง เมื่อเราลองนับว่าเหลืออีกกี่วันเงินเดือนจะออก จะทำให้เรายับยั้งชั่งใจได้ว่าการจะออกไปเดินเล่นซื้อของแบบช่วงต้นเดือนนั้นทำไม่ได้แล้วเพราะเดี๋ยวเงินจะหมดใช้ได้ไม่ถึงสิ้นเดือน

ลองเปรียบเทียบเหตุการณ์ว่า วันที่ 25 ของเดือน เราไปถอนเงินจากตู้ ATM 1,000 บาท พอเห็นยอดเงินคงเหลือในบัญชี 900 บาท จะทำให้ใจเราคิดว่าจะต้องใช้เงินที่มีอยู่นี้ให้ถึงวันที่ 30 ให้ได้ แต่หากเรายังเห็นตัวเลข 5,900 บาท ในบัญชีเนื่องจากคิดว่าเหลือเท่าไหร่ค่อยเก็บ จะทำให้เราคิดว่า เงินสดพันบาทที่อยู่ในมือใช้หมดก็ไม่เป็นไร ยังเหลือในบัญชีตั้งเกือบหกพัน ยืมมาใช้ก่อนเหลือเท่าไหร่ค่อยเก็บ จนสุดท้ายไปเห็นของถูกใจและคิดว่า โอ้ยเดือนนี้เว้นไว้ก่อนค่อยเก็บเดือนหน้าก็ได้ ก็จะทำให้เดือนนี้จะไม่เหลือเงินเก็บเลย ซึ่งสุดท้ายไม่ว่าเดือนไหนๆ ก็จะเป็นแบบนี้เสมอ

ดังนั้นเพื่อผลทางจิตวิทยาแล้ว เงินออมควรจะถูกหักไปจากเงินเดือนตั้งแต่ต้น และแยกบัญชีออกไป ซึ่งควรเป็นบัญชีที่ถอนมาใช้งานได้ยาก อย่างบัญชีฝากประจำเป็นต้น วิธีการนี้ผู้ออมบางรายอาจจะใช้วิธีหักเงินเดือนครึ่งนึงไปออมไว้เลย ระหว่างเดือนก็ทำโอที ทำงานพิเศษ รับจ๊อบต่างๆ ไว้เป็นค่าใช้จ่ายแทน

ออมเงินแบบคิดว่าสินค้ามีราคา 2 เท่า

การออมเงินในลักษณะนี้จะยังทำให้รูปแบบการใช้ชีวิตของเราไม่เปลี่ยนไปจากเดิมมากนัก แต่อาจจะซื้อหาสินค้าต่างๆได้ไม่บ่อยเหมือนแต่ก่อน เนื่องจากรูปแบบวิธีการคือการมองราคาสินค้าแล้วคูณสองโดยส่วนหนึ่งก็ซื้อสินค้าไป อีกส่วนหนึ่งก็นำไปฝากแยกเก็บไว้อีกบัญชีนึง

ตัวอย่างของวิธีการนี้ก็คือ หากเราต้องการซื้อนาฬิกาเรือนใหม่ราคา 4000 บาท เราก็จะต้องใช้เงินไป 8,000 บาท โดยส่วนหนึ่งจะซื้อนาฬิกาเรือนนั้น อีกส่วนหนึ่งก็นำไปฝากแยกต่างหากไว้ในบัญชีเงินออม

หรืออีกกรณีหนึ่ง หากวันนี้อยากจะไปทานอาหารญี่ปุ่น คาดว่าจะใช้เงินประมาณ 800 บาทเป็นค่าอาหาร นั่นแสดงว่าเราจะต้องมีเงินเหลืออยู่ในกระเป๋า 1,600 บาท สำหรับการทานอาหารมื้อนี้ โดยจ่ายค่าอาหารไป 800 บาท และฝากเข้าบัญชีเงินออมอีก 800 บาท

บางคนอาจจะมองว่าต้องมีการฝากเงินขับรถวิ่งหาธนาคารกันอีก เพราะถ้าพกเงินเก็บไว้ในกระเป๋าเดี๋ยวก็จะลืมฝากอีก แต่อย่าลืมว่าการหาซื้อสินค้าหรือรับประทานอาหารประเภทนี้ มักจะอยู่ในห้างสรรพสินค้าที่มีธนาคารเปิดบริการอยู่แล้ว

และยิ่งปัจจุบันระบบธนาคารออนไลน์ต่างๆ ก็มีแอพพลิเคชั่นให้เลือกใช้หลากหลาย วันไหนอยากซื้อของ เปิดแอบดูเงินในบัญชีว่ามีเพียงพอเป็นสองเท่าของราคาสินค้านั้นหรือไม่ แล้วเงินที่เหลือจะพอจ่ายถึงสิ้นเดือนหรือไม่ ว่าแล้วพอซื้อของเสร็จก็โอนเงินผ่านแอพฯไปยังบัญชีเงินเก็บได้ในทันที

อย่างไรก็ตามวิธีการนี้เหมาะสำหรับคนที่เริ่มมีวินัยทางการเงินมาในระดับหนึ่งแล้วเท่านั้น หากเพิ่งเริ่มเก็บเงินผู้เขียนขอแนะนำให้ใช้วิธีแรกในการเก็บเงินมากกว่า

วิธีการออมเงินแบบอื่นๆ

นอกจากวิธีข้างต้นแล้ว ยังมีวิธีการออมเงินแบบอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการเก็บเงินออมไว้ที่บ้าน ซึ่งการออมเงินไว้ที่บ้านเป็นจำนวนมากนั้นไม่ใช่เรื่องที่ดี เพราะอาจจะมีเหตุให้เงินจำนวนนั้นหายไปได้โดยง่าย วิธีการเหล่านั้นได้แก่

– ไม่ใช้ธนบัตรฉบับมูลค่า 50 บาท เช่นทุกครั้งที่ได้รับเงินทอนเป็นธนบัตรฉบับ 50 บาทก็ให้นำมาหยอดกระปุกไว้

– ทุกเข้ามีเงินติดกระเป๋าจำนวนเท่ากันทุกวัน กลับมาถึงบ้านเงินเหลือเท่าไหร่ให้หยอดกระปุกออมสินเป็นต้น

วิธีการในลักษณะนี้เหมาะสำหรับการออมเงินเล็กๆน้อยๆ เช่นเอาไว้ซื้อของที่อยากได้ หรือไว้ท่องเที่ยวเป็นต้น เนื่องจากการออมเงินซื้อบ้านนั้นต้องออมในแต่ละเดือนเป็นจำนวนมาก การออมเงินเข้าบัญชีธนาคารไว้จะปลอดภัยและเป็นวิธีการที่สามารถแสดงให้สถาบันการเงินเห็นถึงวินัยการออมของเราได้

ออมเงินเท่ากันทุกเดือน กับโครงการออมเงินของสถาบันการเงิน

แทบทุกธนาคารจะมีโครงการออมเงินที่ให้อัตราดอกเบี้ยสูงและยังปลอดภาษีอีกด้วย โดยเป็นลักษณะของการออมเงินทุกเดือนในอัตราเดือนละเท่าๆกัน เช่น เดือนละ 1,000 บาท เป็นระยะเวลา 24 เดือนเป็นต้น โดยวงเงินออมต่อเดือนสูงสุดตามที่กฏหมายกำหนด (โดยไม่ต้องเสียภาษีดอกเบี้ย) คือ 25,000 บาท

ตัวอย่างเช่นออมเงิน เดือนละ 10,000 บาท เป็นระยะเวลา 24 เดือน เมื่อครบกำหนดเราจะมีเงินออมถึง 240,000 บาท พร้อมอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยฝากประจำและยังไม่โดนหักภาษีอีกด้วย

บางสถาบันการเงินจะเปิดโปรโมชั่นพิเศษสำหรับคนอยากมีบ้าน เช่น หากออมเงินในลักษณะนี้เดือนละเท่าๆกันเป็นระยะเวลาหนึ่ง เมื่อครบกำหนดก็จะสามารถขอยื่นกู้สินเชื่อได้ทันที โดยสถาบันการเงินจะมีตัวเลขออกมาเลยว่าจะให้กูได้กี่เท่าของเงินออมในแต่ละเดือน อย่างธนาคารอาคารสงเคราะห์เคยเปิดบริการในลักษณะนี้ และเมื่อครบกำหนด 2 ปี จะให้วงเงินกู้ไม่เกิน 80 เท่าของเงินฝากรายเดือน นั่นคือหากฝากเดือนละ 10,000 บาท ครบสองปีจะให้กู้ได้ไม่เกิน 800,000 บาท (โครงการนี้ปิดไปแล้วเมื่อปี 2555)

แม้โครงการในรูปแบบเดียวกับของธนาคารอาคารสงเคราะห์จะไม่มีบริการแล้ว แต่การฝากเงินในลักษณะนี้จะเป็นตัวแปรหนึ่งในการที่จะทำให้เราขอสินเชื่อได้ง่ายขึ้น เพราะสถาบันการเงินจะมองว่า เรามีวินัยในการออมที่ดี โอกาสในการที่สินเชื่อจะผ่านการพิจารณาจึงมีสูงขึ้นตามไปด้วย

Sirispace New update